วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การคุกคามของรัสเซีย

                                ประเทศเพื่อนบ้านของจีนอีก ๒ ประเทศ ที่มีส่วนในการทำลายอิทธิพลของจีนในเอเชีย  คือ  รุสเซียและญี่ปุ่น  สำหรับรุสเซียนั้นได้แผ่ขยายอาณาเขตของตนไปทางตะวันออก กลืนดินแดนผืนเล็กผืนน้อยไปจนกระทั่งจดทะเล  รุสเซียได้ขยายอาณาเขตของตนมาปะทะกับจีนและหยุดชะงักด้วยสนธิสัญญา เนอร์ชิ่ง (Nerchinsk, 1689)  กระนั้นก็ดีรัฐบาลแมนจูก็ปล่อยให้ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำมังกรดำ (หรือแม่น้ำอามูร์) เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ  และมิได้บุกเบิกออกมาเพื่อเตรียมต้อนรับภัยคุกคามจากรุสเซีย  ในปี ๑๘๔๗ รัฐบาลแห่งพระเจ้าซาร์มีความกระหายในการได้ดินแดนแถบนี้ของจีน  โดยการขยายอิทธิพลในการปกครองคืบหน้าล่วงล้ำเข้าไปในเขตของจีนตามสนธิสัญญาเนอร์ชิ่ง  พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่หนึ่ง ได้แต่งตั้งให้เคาท์ มูราเวียบ เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำไซบีเรียตะวันออกโดยได้รับมอบหมายอำนาจพิเศษให้ทำการสำรวจดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำมังกรดำ  รุสเซียมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการได้เมืองท่าออกทะเลทางตะวันออก  ประจวบกับจีนกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งภยันตรายอันเป็นผลจากการค้ากับชาวตะวันตก ในปี ๑๘๔๘ มูราเวียบได้ส่งกองทหารล่วงล้ำเขตแดนตามสนธิสัญญาเนอร์ชิ่งไปจนถึงแม่น้ำมังกรดำ ในปี ๑๘๕๓  ได้กลืนหมู่เกาะแซคาลินเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรุสเซีย  รัฐบาลจีนมิได้สนใจในการล่วงล้ำดินแดนของรุสเซียแต่อย่างใด  ทั้งนี้เพราะต้องกังวลกับการคุกคามของชาวตะวันตก  และในขณะเดียวกันต้องเคลื่อนทหารเพื่อทำการปราบปรามกบฏไถ้ผิง (ไต้เผ็ง)  ในปี ๑๘๕๕  มูราเวียบเริ่มประกาศอย่างโจ่งแจ้งว่าดินแดนทั้งหมดทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำมังกรดำเป็นของรุสเซีย  ในปี ๑๘๕๘  มูราเวียบสามารถบังคับให้จีนทำสนธิสัญญาไอกุน (Treaty  of  Aigun)  ซึ่งตามสนธิสัญญานี้  รุสเซียไม่เพียงแต่จะได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำมังกรดำเท่านั้น  แต่ยังได้สิทธิปกครองเหนือดินแดนชายทะเลตั้งแต่แม่น้ำยูสซูรี่ (Ussuri  River) จนกระทั้งจดทะเลญี่ปุ่นด้วย
                                ในขณะเดียวกัน  พระเจ้าซาร์ได้ส่งทูต พลเรือเอก ปูเตียติน (Admiral  Putiatin) มาประจำอยู่    กรุงปักกิ่ง  เพื่อสดับตรับฟังความเคลื่อนไหวในจีน  และเรียกร้องผลประโยชน์ให้ทัดเทียมกับอังกฤษในกรณีที่อังกฤษได้สิทธิเพิ่มขึ้น  นอกจากนั้นรุสเซียยังต้องการตกลงปัญหาดินแดนแถบแม่น้ำมังกรดำ  รุสเซียได้เข้าร่วมเป็นคู่สนธิสัญญาเทียบสิน  แต่ปูเตียตินไม่สามารถตกลงปัญหาชายแดนกับจีนได้  ในกลางปี ๑๘๕๙  รุสเซียส่งนายพลอกนาเทียบ (General  Ignatiev) มายังกรุงปักกิ่งเพื่อแลกเปลี่ยนเอกสารสนธิสัญญาเทียนสิน  และเจรจาปัญหาดินแดนชายทะเลต่อ  โชคเป็นของอิกนาเทียบ  เมื่ออังกฤษได้ส่งกองทหารเข้ายึดกรุงปักกิ่งในปี ๑๘๖๐  อิกนาเทียบตั้งตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย  และได้ค่าตอบแทน คือ ดินแดน ๓๕๐,๐๐๐ ตารางไมล์เปลี่ยนมาอยู่ใต้ร่มธงของรุสเซีย  ต่อแต่นั้นไปรุสเซียเปลี่ยนทิศทางความสนใจมาอยู่แถบดินแดนเอเชียตอนกลางของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซินเกียง  เริ่มตั้งแต่ปี ๑๘๕๑  รุสเซียได้สิทธิในทางการค้าที่เมืองดุลดยุ (อีลี) และตาบากาไตตามข้อตกลงดุลดยะ  การที่รุสเซียได้แผ่ขยายอิทธิพลของตนไปในดินแดนตอนกลางของเอเชียนี้  ได้ก่อความตื่นตระหนกให้แก่อังกฤษเป็นอย่างยิ่ง  อังกฤษไดเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลจากอินเดียเข้าไปในทิเบต  ความกินแหนงแคลงใจระหว่างมหาอำนาจล่าอาณานิคมทั้ง ๒ ก็ได้ก่อความตึงเครียดยิ่งขึ้นตามลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น