วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ลัทธิขงจื๊อกับการพัฒนาประเทศ

                                ภายหลังที่จีนได้ประสบกับความพ่ายแพ้ในการสงครามกับมหาอำนาจตะวันตกหลายครั้งติดต่อกัน  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเกิดกบฏไถ้ผิง  ข้าราชการจีนผู้ที่มีความเป็นห่วงอนาคตของประเทศก็เริ่มพิจารณาว่า  มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ประเทศจีนจะยอมรับสิ่งที่นับว่าเป็นความเจริญของประเทศตะวันตก  ปัญหานี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นครั้งแรก  เท่าที่ปรากฏตามหลักฐานโดย หลิน  เจ้อ  สวี  อดีตข้าหลวงตรวจการประจำมณฑลกวางตุ้งและกวางสี  และผู้ได้รับอำนาจเต็มจากพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้จัดการกับปัญหาฝิ่น  หลังจากสงครามได้เกิดขึ้น หลินในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัดฝิ่นได้ถูกเนรเทศไปเมืองอีลี  ในฐานะที่ท่านผู้นี้เป็นหัวหน้าในการประลองมือกับฝรั่งด้วยอาวุธเป็นคนแรก  เขาได้ยอมรับความด้อยในเชิงการทหารของประเทศจีน  ในจดหมายลับที่มีถึงเพื่อนของเขาคนหนึ่งในปี ๑๘๔๒ เขาแสดงความห่วงใยในอนาคตของประเทศจีน  โดยปรารภว่า จีนมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อและผลิตเรือรบและปืนที่ทันสมัย  ดังที่ใช้อยู่ในบรรดาประเทศตะวันตก  มีข้าราชการจีนอีกเป็นจำนวนมากที่มีความเห็นในทำนองเดียวกันกับความเห็นของเขา  ในระยะยี่สิบสามปีต่อจากนั้นมา  ปรากฏว่าในบรรดาข้าราชการจีนได้มีความเห็นแตกแยกเป็น ๒ พวก  พวกหนึ่งยอมรับความมีอำนาจเหนือบางประการของชาวตะวันตก  อีกพวกหนึ่งปฏิเสธที่จะยอมรับความเจริญของชาวตะวันตกเกือบทุกประการ
                                ผู้ที่สนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญตามประเทศตะวันตก  ได้แก่  ผู้นิยมลัทธิขงจื๊อ โดยดัดแปลงให้เข้ากับสมัยนิยม  พวกนี้ถือว่าลัทธิขงจื๊อเป็นสิ่งประเสริฐสุดที่จะต้องรักษาไว้ในสังคมจีน        ส่วนวัฒนธรรมตะวันตกที่พอจะรับเข้ามาใช้ได้นั้น  ไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่าวิชาการในทางทหารและ        การอุตสาหกรรม  นั่นก็คือ การที่จะยอมรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้นั้นก็คือการสร้างเกราะหรือไปซื้อเกราะมาปกคลุมขุมทรัพย์อันทรงคุณค่า  อันเป็นมรดกสืบทอดต่อ ๆ กันมาของจีนไว้  ผู้ที่สนับสนุนนโยบายนี้ ได้แก่ บุคคลที่สำคัญในวงการรัฐบาลหลายคน  เช่น  พระองค์เจ้ากุงและหวุนเสียงในนครหลวง  ส่วนข้าราชการประจำส่วนภูมิภาคที่มีนามกระเดื่องสนับสนุนนโยบายนี้ได้แก่  เจิงกว๋อฟัน  จว๋อจุงทัง  และหลี่หูงจัง  เป็นต้น
                                ส่วนพวกที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญตามประเทศตะวันตก  เห็นว่าเพียงแค่ฟื้นฟู ของดี ของจีนให้เข้มแข็งโดยปราศจากการเลียนแบบชาวตะวันตกก็เพียงพอแล้ว  พวกนี้กลัวว่า            การเลียนแบบในเชิงการทหารและอุตสาหกรรมของชาวตะวันตกนั้นย่อมจะมีวัฒนธรรมในด้านความนึกคิดติดตามเข้าไปด้วย  ผู้นำในการสนับสนุนนโยบายนี้  ได้แก่  วอเหยิน  ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการส่วนพระองค์ (Grand  Secretary) หรือเทียบเท่านายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี ๑๘๖๑  นอกจากนั้นยังมีข้าราชการในพระราชสำนัก และ ชนชั้นผู้ดี ส่วนมากเป็นผู้สนับสนุน
                                ในระหว่างปี ๑๘๖๐ ๑๘๗๐  ผู้สนับสนุนนโยบายแรกเป็นพวกกำบังเหียนนโยบายการเมืองของประเทศ  ภายหลังการปราบปรามกบฏไถ้ผิงราบคาบลง  และราชวงศ์แมนจูได้ถูกบังคับให้มีสัมพันธภาพกับต่างประเทศใน ฐานะเท่าเทียมกัน แล้ว  ขุนนางชาวแมนจูและข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิของจีนได้ร่วมมือกัน     เริ่มก่อการปฏิรูประบบการบริหารหลายประการ  แต่ความวุ่นวายภายในพระราชสำนัก  ทำให้ฐานะของผู้มีอำนาจในการตัดสินนโยบายของรัฐมีความไม่มั่นคง  ทั้งนี้เพราะขันทีในพระราชสำนักสามารถกุมอำนาจทางการเมืองตลอดมา ตั้งแต่กรุงปักกิ่งถูกทำลายจนกระทั่งพระราชชนนีฉือซี (ซูสีไทเฮา) ถึงแก่กรรมในปี ๑๙๐๘  พระราชชนนีฉืออันและพระองค์เจ้ากุงผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการตัดสินนโยบายของจีนในปี ๑๘๖๐ ๑๘๗๐ นั้น  ก็ไม่อาจใช้ความรู้ความสามารถของตนไปใช้ปรับปรุงประเทศจีนได้แต่ประการใด  ฉือซีเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายพัฒนาให้เจริญตามประเทศตะวันตก  และเมื่อพระราชสำนักอ่อนแอและไม่เอาใจใส่ในการปรับปรุงประเทศ  งานเกี่ยวกับการสร้างชาติก็ตกไป  เป็นภาระของจ้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในส่วนภูมิภาคที่จะปฏิบัติการ     ไปในฐานะส่วนตัว  ขบวนการพัฒนาให้เจริญตามประเทศตะวันตกจึงมิได้มีแผนการแต่ประการใด  ดังนี้จึงเป็นการยากที่การปฏิรูปของจีนในสมัยนี้จะสามารถทัดเทียมการปฏิวัติญี่ปุ่นในสมัยเดียวกันได้
                                การเลียนแบบตะวันตกที่จัดทำไปในส่วนภูมิภาค  ด้วยการนำของข้าราชการในส่วนภูมิภาคนั้นเพ่งเล็งแต่เฉพาะในด้านการทหาร  เจิงกว๋อฟัน  หลี่หูงจัง  และจว่อจุงทัง  ขุนศึกผู้พิชิตกบฏไถ้ผิงที่สำคัญทั้ง ๓ นี้ ได้ใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ของ คนป่าเถื่อน ได้ผลดี  ก็ให้เกิดความเลื่อมใสในวิชาการอาวุธสมัยใหม่  ในปลายศตวรรษที่ ๑๙  หลี่หูงจังเป็นข้าหลวงตรวจการนครปักกิ่ง  จังจือตุ้งเป็นข้าหลวงตรวจการมณฑลกวางตุ้ง           ได้จัดระบบหน่วยทหารสมัยใหม่ฝึกโดยนายทหารชาวเยอรมันที่เมืองอู่ชัง  หลี่ได้ส่งคนจีนไปศึกษาวิชาการทหารที่เยอรมัน  และภายหลังปี ๑๘๘๕  เขาได้ใช้ชาวยุโรปสอนนายทหาร ณ โรงเรียนนายทหารที่เทียนสิน      ในทำนองเดียวกัน  จังก็ได้ตั้งโรงเรียนนายทหารขึ้นที่เมืองกวางตุ้ง  ผู้สนับสนุนนโยบายเลียนแบบตะวันตกเหล่านี้  ยังได้สนใจในการสร้างโรงคลังพระแสงและอู่ต่อเรืออีกด้วย  ในปี ๑๘๖๕ หลี่และเจิงได้สร้างโรงคลังพระแสงเรียกว่า โรงคลังพระแสงเมืองเจียงหนัน  และอู่ต่อเรือที่เมืองใกล้กับกรุงเซี่ยงไฮ้  ซึ่งสามารถผลิตเรือปืนลำแรกได้เมื่อปี ๑๘๖๘  เจียงหนันได้เป็นศูนย์ผลิตกำลังทหารของจีนตลอดสมัยราชวงศ์แมนจูควบคู่ไปกับ       โรงพระแสง  มีโรงพิมพ์ซึ่งปรากฏในระหว่างปี ๑๘๖๘ ๑๘๘๒  โรงพิมพ์นี้ได้พิมพ์หนังสือในด้านวิทยาศาสตร์ที่แปลจากภาษาฝรั่งมากกว่า ๒๐๐ เล่ม  จว่อก็ได้สร้างอู่ต่อเรือขึ้นที่เมืองฝูโจว  และในระหว่างปี ๑๘๖๗ ๑๘๗๔ ได้ผลิตเรือออกมาได้ถึง ๑๕ ลำ  ก่อนที่จะขาดกำลังทรัพย์สนับสนุนจากทางการ  ส่วนจังจือตุ้งรับผิดชอบในงานถลุงเหล็กฮั่นแยะผิง
                                เนื่องจากงานเหล่านี้เป็นผลผลิตจากผู้นำส่วนท้องถิ่น  รัฐบาลที่กรุงปักกิ่งมิได้เหลียวแลแต่ประการใด  อาวุธที่ผลิตและทหารที่ฝึกออกมานอกจากจะมีจำนวนน้อยแล้ว  ยังหาได้มีความจงรักภักดีต่อรัฐบาลกลางดังที่มีต่อส่วนท้องถิ่นไม่  ปรากฏว่าในสงครามจีน ญี่ปุ่น (๑๘๙๔ ๑๘๙๕) นั้น  กองเรือรบทางใต้หาได้ให้กำลังสนับสนุนแต่ประการใดไม่
                                อุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาประเทศจีนในระหว่างนั้นก็คือ  ความขาดแคลนเงินและต้องระวังภัยในการแทรกแซงของวัฒนธรรมตะวันตก  การสื่อสารและการคมนาคมก็ได้มีการริเริ่มเป็นอย่างดี         แต่ผู้ดำเนินการซึ่งไม่ใช่รัฐบาลกลางนั้น  มักจะต้องหาเงินทุนดำเนินกิจกรรมไปอย่างแร้นแค้น  นอกจากนั้น กิจกรรมทั้งหลายที่เป็นที่สนใจของผู้นำนั้นย่อมจะขาดความราบรื่นได้หากมิได้พัฒนาการอุตสาหกรรมอื่น ๆ ควบคู่ไปในขณะเดียวกัน  แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนเลียนแบบตะวันตกนั้นก็ยังต่อต้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามแบบยุโรป  เพราะพวกนี้เกรงว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะสามารถถอนรากเหง้าวัฒนธรรมจีนไปเสีย  เขายังเห็นสังคมตามแบบแผนขงจื๊อนั้นเป็นยุคทองที่เขามีหน้าที่ที่จะต้องรักษา  และระบบเศรษฐกิจโดยถือการกสิกรรมเป็นพื้นฐานนั้นจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น