วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การยาตราทัพขึ้นเหนือและความสำเร็จ

การยาตราทัพขึ้นเหนือ   โดยการนำของเจียงไคเช็ค  ภายใต้ผืนธงของก๊กมินตั๋งได้เริ่มโดยซุนยัดเซ็น  ตั้งแต่เดือนกันยายน  ๑๙๒๔  แล้วแต่มิได้คืบหน้าไปมาก  จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม  ๑๙๒๖  คณะกรรมการกลางของพรรคได้ประชุมกัน  ในวันที่  ๔  มิถุนายน   แต่งตั้งเจียงไคเช็คเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยยุบเลิกคณะกรรมการฝ่ายทหาร ( Mikitary Council) เสีย  และมอบอำนาจทั้งหมดให้เจียงไคเช็คในวันที่  ๕   กรกฎาคม  เขาให้พรรคแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าแผนกองค์บุคคลฝ่ายทหาร ( Mikitary Personnel)  โดยมีอำนาจเต็มที่ที่จะแต่งตั้ง  หรือสั่งปลดผู้แทนของพรรคประจำกรมกองทหาร กล่าวโดยสรุปก็คือ  เจียงไคเช็คได้คืบหน้าไปแสวงหาอำนาจในทางการเมืองเพิ่มอำนาจทางการทหาร   ซึ่งเขาสามารถใช้ได้อย่างเผด็จการอยู่แล้ว
                วัตถุประสงค์ประการแรกของการยาตราทัพขึ้นเหนือก็คือ   การปราบปรามขุนศึกทั้งหลาย  และรวบรวมประเทศจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   ภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋ง ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก  ปรากฏว่า  การปฏิบัติการทางทหารได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี  ภายในระยะเวลา  ๓  เดือนนับแต่เริ่มการเคลื่อนย้ายทหาร  กองทัพก๊กมินตั๋งสามารถยึดเมืองสำคัญ ๆเช่น ฮั่นโข่ว
(ฮันเค้า)และบริเวณใกล้เคียง    จังหวัดต่าง ๆ ภายใต้แม่น้ำแยงซี  เมืองนานกิง  และเซี่ยงไฮ้
                สำหรับในด้านการเมืองนั้น   ไม่ได้รับความสำเร็จดังในด้านการทหาร  การชิงอำนาจระหว่าง ปีกขวา  และ  ปีกซ้าย  ของพรรคยังคงดำเนินต่อไป  รัฐบาลคณะปฏิวัติได้ย้ายที่ตั้งไปอยู่เมืองอู้ฮั่น    เจียงไม่เห็นว่าใครจะมาลบอำนาจเผด็จการของตนได้  จึงไม่พยายามขัดขวางต่อไป
                พรรคคอมมิวนิสต์หวังที่จะหาคะแนนเสียงเพิ่มจากกรรมกรและกสิกร   เพื่อดำเนินการแข่งขันกับก๊กมินตั๋งต่อไป  ในต้นปี  ๑๙๒๗  พรรคคอมมิวนิสต์อ้างว่าตนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น  ๕๐,๐๐๐  คนแล้ว  แต่สลาตินยังสั่งให้ดำเนินงานภายใต้การนำของก๊กมินตั๋งต่อไป   ในเดือนธันวาคม  ๑๙๒๖   เขาแสดงความประสงค์ผ่านองค์การคอมมิวนิสต์สากลว่า  คอมมิวนิสต์จีนควรทำก๊กมินตั๋งให้อยู่ภายใต้การนำของชนชั้นกรรมาชีพ   และถ้าหากคอมมิวนิสต์ไม่มีความสามารถที่จะยึดตำแหน่งความเป็นผู้นำของก๊กมินตั๋ง   เขาอาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อวินาศกรรมแผนการองค์การคอมมิวนิสต์สากลก็ได้
                การสิ้นสุดของความสัมพันธมิตรระหว่างก๊กมินตั๋งกับคอมมิวนิสต์  สีแดงของรัฐบาลอู่ฮั่นเริ่มปรากฏชัดขึ้นตามลำดับ  ทำให้เจียงหาหนทางกำจัดอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เสนอให้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอยู่ที่หนันชังแห่งมณฑล เกียงซี   แต่ผู้นำพรรคไม่สนับสนุน เจียงได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะกำจัดคอมมิวนิสต์  และในวันที่  ๗  มีนาคม  ๑๙๒๗  เขาได้กล่าวโจมตีโบโรดินและที่ปรึกษาชาวรุสเซียซึ่งสนับสนุนปีกซ้าย
                ปีกซ้ายของก๊กมินตั๋งตอบโต้เจียงด้วยการเรียกประชุมคณะกรรมการกลาง กับจัดระเบียบพรรคและรัฐบาลเสียใหม่    โดยพยายามจะกำจัดอิทธิพลของเจียง  พรรคได้เลือกพวกก๊กมินตั๋งปีกซ้ายเข้าครองตำแหน่งในองค์การต่าง ๆ ของพรรค  คณะกรรมการกลางยังสนับสนุนสหพันธ์กรรมกรและสมาคมกสิกร  และเรียกร้องให้มีการร่วมมือระหว่างก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์มากขึ้น  แต่ตำแหน่งของพรรคและของรัฐบาล   ยังกีดกันสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ดังเดิม
                การแตกแยกระหว่างเจียงกับวางจิงวุ่ยได้ถึงขั้นแตกหัก   เมื่อเจียงประกาศจัดตั้งรัฐบาลต่อต้านคอมมิวนิสต์จีนใหม่ที่นานกิงในเดือนเมษายน  ๑๙๒๗  ในวันที่  ๑๘   เดือนเดียวกันเจียงพร้อมด้วยหูฮั่นหมิน  ซึ่งเป็นผู้นำก๊กมินตั๋งฝ่ายขวา  ถูกสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับการมาตกรรม     เลี่ยวจุ้งไข่และผู้ติดตามของเขา
                เจียงไม่สามารถดำเนินตามเจตจำนงของอดีตผู้นำของเขา   ในการรักษาสัมพันธมิตรระหว่างก๊กมินตั๋งคอมมิวนิสต์จีนและรุสเซียไว้ได้    ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่  ๕  ของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคมนั้น ได้ตีความพฤติกรรมของเจียงว่า  เป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) และเขาได้นำชนชั้นของเขาไปเชื่อมสัมพันธมิตรกับพวกศักดินา  และพวกจักรวรรดินิยม  เพื่อที่จะกวาดล้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เป็นกรรมกรและกสิกร    มอสโกพยายามอธิบายว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าขั้นหนึ่งของก๊กมินตั๋งที่ได้ทำพรรคบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น  และสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์ร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง  ณ  อู่ฮั่นตามเดิม   ส่วนเฉินตู๊ซิวหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์นั้นยังคงใจร้อนเช่นเคย  อยากจุงดความร่วมมือที่ให้กับพรรคก๊กมินตั๋ง  ปีกซ้าย เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบซึ่งพรรคของตนกำลังอยู่ในระหว่างก้าวหน้า
                ในขณะที่สัมพันธภาพระหว่างก๊กมินตั๋ง  ปีกซ้าย กับคอมมิวนิสต์เสื่อมทรามลงนั้นอิทธิพลของรุสเซียในอู่ฮั่นก็เสื่อมเช่นกัน  เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นที่เปิดเผยว่า  รุสเซียได้ใช้การปฏิวัติจีนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว  ในต้นปี  ๑๙๒๗  จังจว้อหลินผู้ครองนครหลวงปักกิ่งได้ปราบปรามกิจกรรมของรุสเซียในปักกิ่ง  ในวันที่  ๑  มีนาคม  จังได้ยึดเอกสารโฆษณาลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมากจากเรือรุสเซียที่กำลังเดินทางไปอู่ฮั่นที่เมืองผู่โข่ว  ในวันที่  ๒๐  มีนาคม  รัฐบาลปักกิ่งได้สั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการค้นสถานศึกษา  และจับกุมนักเรียนในข้อหามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก 
                จากการกระทำอันพลการของเหล่าคอมมิวนิสต์และพฤติกรรมของคอมมิวนิสต์รุสเซียในจีน  ประกอบกับการกบฏในหนันชัง   ในวันที่  ๓๐  กรกฎาคม  ๑๙๒๗ ซึ่งเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์เช่นกัน   เจียงได้รับอำนาจเต็มที่ในการควบคุมรัฐบาลนานกิงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์  ๑๙๒๘  ในขณะที่วางจิงวุ่ยประกาศตัวเข้าร่วมรัฐบาลนานกิงนั้น  เจียงได้ถูกขุนศึกนำโดยกลุ่ม  เนินตะวันตก    โค่นอำนาจไปชั่วขณะ  แต่วางจิงวุ่ยร่วมมืออยู่กับพวก  เนินเขาตะวันตก  อยู่ได้ไม่นานก็ถอนตัวไปตั้งรัฐบาลใหม่ที่กวางตุ้ง  ในเดือนกุมภาพันธ์  ๑๙๒๘  ได้มีการจัดระเบียบก๊กมินตั๋งใหม่  ณ  นานกิง  และที่ประชุมคณะกรรมการกลางได้เลือกเจียงเป็นประธาน   และแต่งตั้งเขาดำรงตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่ง เจียงรับมอบอำนาจเผด็จการโดยทหารไปจนถึงวันที่  ๑  สิงหาคม  ๑๙๒๘
                ในขณะที่ความแตกแยกทางการเมืองดำเนินอยู่นั้น   การปฏิบัติทางการทหารยังคงดำเนินต่อไป   ตั้งแต่ปี  ๑๙๒๗   ก๊กมินตั๋งได้กำลังขุนศึกที่สำคัญอีก  ๒  คน  คือ เอี๋ยนสีซันและเฝิ่งยู่เสียงผู้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อพรรคซุนยัดเซ็น   ทางเลือกของขุนศึกทางเหนือ  คือ  การยอมตนให้ถูกทำลายโดยกองทหารที่สวามิภักดิ์ต่อก๊กมินตั๋งและยอมจำนน  ขุนศึกหน่วยสุดท้ายที่ต้องเผชิญกับกองทัพก๊กมินตั๋งคือจังจว้อหลินและจังเซียะเหลียงบิดากับบุตร   จังจว้อหลินหนีออกจากกรุงปักกิ่งโดยปราศจากความพยายามต่อต้านในเดือนมิถุนายน   จังจว้อหลินถูกฆาตกรรมโดยระเบิดรถไฟที่เป็นแผนการของทหารญี่ปุ่นแห่งฐานทัพกวันตุง   ในวันที่  ๔   มิถุนายน  ๑๙๒๘  สำหรับจังเซียะ เหลียงบุตรและผู้สืบอำนาจแทนจ้งจว้อหลินนั้น  ได้รับคำเตือนจาโตเกียวมิให้ร่วมมือกับนานกิง  จังได้ปฏิบัติต่อหลายเดือน  แต่ในที่สุดในเดือนธันวาคม  ๑๙๒๘  เขาได้ซักธงก๊กมินตั๋ง  และสมัครใจเข้าร่วมกับรัฐบาลนานกิง  รัฐบาลนานกิงได้แต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการอาณาบริเวณแมนจูเรีย  เย่อเหอ  และส่วนหนึ่งของมองโกเลียใน  พร้อมทั้งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารหน่วยป้องกันในอาณาเขตบริเวณชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  การรวบรวมประเทศจีนจึงได้บรรลุผลสำเร็จเป็นครั้งแรกนับแต่จังซุนพยายามจัดตั้งราชวงศ์แมนจูในปี ๑๙๑๗


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น