วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความร่วมมือจีน – ไทย

มิตรภาพและสันติสุขต้องอยู่บนความเที่ยงธรรม
                ( ปรับปรุงจากคำอภิปรายของ วิทยากร เชียงกูล  ในการประชุมสัมมนาเรื่อง  ไทย จีน จากสันติภาพ ภูมิภาค สู่ สันติสุขโลก   จัดโดยหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจ   วันที่ ตุลาคม 2546  ณ หอประชุม   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ) 
              อยากจะเริ่มต้น ว่า ถ้าเราจะพูดถึงมิตรภาพและความมั่นคง เราจะต้องพูดกันอย่างฉันท์เพื่อนที่ดี คือ ต้องพูดเรื่องความจริงและพูดกันอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ก็ยืนอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของ     ประชาชน เป็นมิตรภาพระหว่างประชาชน เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสองประเทศ ซึ่งบางกรณีก็อาจคล้ายกับของรัฐบาลหรือชนชั้นนำ บางกรณี อาจจะแตกต่าง อันนี้ต้องแยกแยะให้ชัดเวลานี้รัฐบาล ทั้ง  2  ประเทศ เน้นแต่เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ดูว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจได้กระจายสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง  เป็นธรรมหรือไม่ ไม่คำนึงถึงว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นได้สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่  หรือว่า เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ซึ่งมุ่งที่จะแสวงหาทางร่ำรวยทางวัตถุ  ของคนรวยคนชั้นกลาง แล้วก็ไม่สนใจธรรมชาติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม  ไม่สนใจเรื่องคุณค่า เรื่องวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเศรษฐกิจ
              ถ้าเราจะพูดถึง ความร่วมมือ พูดถึงมิตรภาพ เราต้องเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย  ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะหลงไปตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตะวันตก ซึ่งเน้นให้ส่งออก เน้นการค้า เน้นการพัฒนาทางวัตถุ  ซึ่งมันก็มีความจำเป็น มีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ว่าเราต้องมองทิศทางการพัฒนาเหล่านี้อย่างวิพากษ์วิจารณ์เราจะต้องมอง ว่า ทั้งไทยและจีนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทุนนิยมโลก เราถูกกำหนดโดยภาวะแวดล้อมจากภายนอกที่มีพลังอำนาจมาก  เราต้องเข้าใจทั้งโครงสร้างของสังคมทุนนิยมโลกและโครงสร้างภายในแต่ละประเทศ เองที่มีผลต่อประชาชนต่างกลุ่มที่แตกต่างกัน  ปัญหาใหญ่ของ โลกขณะนี้คือว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของโลกมีความไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่งและทำให้โลกมีปัญหา มาก  ความมั่งคั่งอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยเพียง 20% ของโลก ในขณะที่คน 80% นั้น ยังยากจน ไม่มีอำนาจซื้อ ผลผลิตล้นเกิน แต่คนไม่มีเงินจะซื้อ นี่คือปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน โลกไม่สามารถมีสันติสุขได้ โลกไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ความขัดแย้งสงครามทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมทั้งบางทีก็เกิดเป็นสงครามที่รุนแรงด้วย   ได้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่เป็นธรรม ที่ยังมีปัญหาความอดอยากยากจนยังมีการเอาเปรียบกันต่าง ๆ นานา   โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมีบทบาทต่อประเทศต่าง ๆ อย่างสำคัญ  เวลานี้ทั้งจีนและไทยมุ่งเน้นการค้าขายกับสหรัฐมาก เพราะว่าสหรัฐเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด การที่เราหวังว่าเราส่งออกก่อนแล้วเราได้ดอลลาร์มา เพื่อเอาดอลลาร์ไปซื้อของ ไปทำอะไรต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศเราภายหลัง  ความจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น  ปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก   วันนี้สหรัฐเป็นประเทศที่เป็นลูกหนี้ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศสหรัฐขาดดุลการค้ามหาศาล รัฐบาลสหรัฐก็ขาดดุลงบประมาณด้วย เวลานี้สหรัฐอยู่ได้ด้วยเงินคนอื่น จีน ญี่ปุ่น ถือเงินสำรองดอลลาร์ไว้เยอะมาก ประเทศเอเชียที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐต่างไปซื้อ      พันธบัตรของสหรัฐ ซึ่งก็คือให้สหรัฐกู้เงินไปซื้อสินค้าราคาต่ำจากเอเชียมาบริโภคอย่าง ฟุ่มเฟือย ถ้าสหรัฐเกิดฟองสบู่แตกเมื่อไหร่  เศรษฐกิจทั่วโลกจะตกต่ำ ประเทศที่พึ่งพาผูกพันกับสหรัฐมากจะเสียหายมากกว่าประเทศที่พึ่งตลาดภายใน ประเทศได้สูง
              ตอนเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจปี 2540 นั้น   จีนไม่มีปัญหาเท่าไร เพราะว่าจีนยังไม่ได้ค้าขายกับต่างประเทศมากนักเลย  เพราะว่าจีนมีตลาดภายในประเทศใหญ่และมีสัดส่วนดีมานด์จากภายในประเทศสูง แต่เดี๋ยวนี้จีนเปิดการค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐมาก จีนก็เสี่ยงมากขึ้น ในแง่การค้า ระหว่างประเทศ  ไทยกับจีนควรจะคิดถึงการแลกเปลี่ยนค้าขายกันโดยไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์   สร้างเงินสกุลเอเชียร่วมกันก็ได้ เพราะเวลานี้เอเชียนั้นมีมูลค่าผลผลิตสูงมาก  มีการค้าสูงมาก  แต่ว่าทิศทางของเอเชียยังไปมุ่งค้ากับสหรัฐ   ค้ากับยุโรป   ถ้าเราส่งเสริมให้คนประเทศในเอเชียเองมีรายได้ดีขึ้น ค่าแรงดีขึ้น  พวกเขาก็จะมีกำลังซื้อเพิ่ม เราก็จะขายของให้กันและกันได้มากขึ้น  จะส่งเสริมให้คนประเทศในเอเชียเองมีรายได้ดีขึ้น   ก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจจากภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น  โดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐมากเท่าที่เป็นอยู่ หากเราคิดการณ์ ไกล เราต้องเพิ่มการค้าขายและการร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน  โครงสร้างภายในประเทศของแต่ละประเทศก็ต้องดูแล ประเทศในเอเชียมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง  มีการกระจายทรัพย์สินรายได้ที่ไม่เป็นธรรม มีปัญหาต่าง ๆ ต้องแก้ไข  จากภายในด้วย ไม่ใช่จะเอาแต่การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
              เราควรมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ดีขึ้น  ไม่ใช่พัฒนาเพื่อความเติบโตอย่างเดียว ต้องพัฒนาให้ยั่งยืน ให้เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากไทยกับจีนจะร่วมมือกันทางด้านการค้าการลงทุนทางธุรกิจ แล้ว  ควรร่วมมือกันทางด้านสังคมด้วย เช่น ร่วมมือกันในเรื่องการศึกษา เรื่อง สาธารณสุข เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เรื่องต่าง ๆ ที่เราจะสามารถร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ยังมีอีกมากมาย นอกจากนี้ก็ควรสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรประชาชนต่าง ๆ มากขึ้น  ไม่ใช่ความร่วมมือเฉพาะระดับรัฐบาลและระดับองค์การธุรกิจเท่านั้น ประชาชน 2 ประเทศถึงจะสร้างมิตรภาพที่แท้จริงได้ โลกนี้ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยการแข่งขันกันอย่างเดียว คนเราจะอยู่กันอย่างสันติสุขได้ต้องร่วมมือและแบ่งปันกัน  อย่างเป็นธรรมด้วย 
              ปัญหาใหญ่ของ โลกทุกวันนี้คือ  ประชากรและความต้องการเพิ่มขึ้น  ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัดและร่อยหรอเสื่อมโทรม  ถ้าเราไม่แบ่งปันกันโดยเน้นปัจจัยพื้นฐานที่พอเพียงสำหรับประชาชน ถ้าเราไม่จัดระบบสังคมให้ดีพัฒนาได้อย่างยั่งยืน   แล้วต่อไปจะยิ่งมีปัญหาหนัก  เราต้องร่วมมือช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่านี้  ไม่ใช่เอาเปรียบกัน หากำไร เน้นความเติบโตแบบตัวใครตัวมัน โลกก็จะไม่สงบ  มีความขัดแย้งไปเรื่อย ๆ แล้วต่างคนต่างก็ต้องไปสร้างกองทัพ  ไปสร้างอาวุธทำให้เสียทรัพยากรของโลกไปมาก แทนที่จะเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยคน มาพัฒนาสาธารณสุขและยารักษาโรค มาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนแบบนี้เป็นเรื่องซึ่งที่ประชุมเอเปคเขาก็ไม่พูดกัน เอเปคเขาจะพูดแต่เรื่องการเปิดเสรีทางการค้า เรื่องความร่วมมือเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สวย ๆ หรู ๆ เสร็จแล้วก็ตกลงกันไม่ค่อยได้ เพราะว่าต่างคนต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองมากไป   จึงตกลงกันไม่ค่อยได้เราควรส่งเสริมร่วมมือกันในแง่ประชาชนมากขึ้น  ต้องมองในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากขึ้น อย่า บ้าเห่อแต่ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจมากเกินไป   ต้องมองที่การกระจายทรัพย์สินรายได้ที่เป็นธรรมและการพัฒนาคุณภาพของคน  มองที่ความมั่นคงทางสังคมของประชาชน  มากกว่า เราถึงจะสร้างมิตรภาพและสันติสุขได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น