วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จุดแข็งและจุดอ่อนในทางเศรษฐกิจของจีน

              การประเมินฐาน และบทบาทของจีนในระบบเศรษฐกิจโลกควรไม่มองที่การเพิ่มขึ้นของGDP เท่านั้น ต้องประเมินว่าจีนจะสามารถพัฒนาให้คน 1,300 ล้านคนมีการกินอยู่ที่ดีขึ้นทั่วถึงหรือไม่ มีความรู้ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมเข้มแข็ง เจริญเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างสม่ำเสมอเพียงไร และเศรษฐกิจจีนในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนและการค้ากับประเทศอื่น ๆ จะมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลกอย่างไร  นี่คือโจทย์สำคัญซึ่งต้องการการศึกษาค้นคว้าที่เจาะลึกอย่างวิพากษ์วิจารณ์จีนมีศักยภาพหรือมีจุดแข็งในการพัฒนาอยู่ มาก เช่น การมีประชากร 1,300 ล้านคน ทำให้การผลิตแบบประหยัดจากขนาดใหญ่ (Economy of Scale) เป็นไปได้มาก นี่คือขนาดในฝันของนักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผนทั้งหลาย การที่จีนมีอัตราการออมในประเทศสูง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงมาก  มีขนาดตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ทำให้จีนพึ่งตนเองหรือพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นสัดส่วนสูงกว่าการพึ่งการค้า ระหว่างประเทศมาก และการพัฒนาแบบสังคมนิยมที่ผ่านมา 50 กว่าปี (ก่อนที่จะปฏิรูปเป็นระบบตลาดเมื่อ 20 กว่าปีนี้) ก็ทำให้คนจีนมีพื้นฐานทางการศึกษาทั่วไป, มีวินัยในการทำงานที่ดี (แม้ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับสูงยังพัฒนาได้ไม่มากนัก)  รวมทั้งจีนก็ไม่มีปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติมาก มีรัฐบาลที่ค่อนข้างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ มีเครือข่ายคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งชำนาญเรื่องอุตสาหกรรมการค้า ที่พร้อมจะร่วมลงทุน และเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจีน
              อย่างไรก็ตาม การมีประชากรมาก ก็เป็นปัญหาหรือเป็นจุดอ่อนด้วย เหมือนกัน   เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศ และทรัพยากรต่าง ๆ การมีประชากรมากทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการพัฒนาการบริหารจัดการด้านเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมาก จึงจะทำให้คน 1,300 ล้านคน(เป็นคนสูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปถึง 10% หรือ 120 ล้านคน)  มีงานทำมีอาหารการกิน มีปัจจัยสี่ และปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ อย่างเหมาะสม
              ในปัจจุบันคน จีนส่วนใหญ่มีอาหารการกินอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แต่บ้านช่องที่ถูกสุขลักษณะ การสาธารณูปโภค และการสาธารณะสุขยังมีสภาพไม่ดีนัก ภาคเกษตรของจีนซึ่งมีสัดส่วนแรงงาน 50% ของแรงงานทั้งประเทศยังล้าหลัง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ปัญหาคนว่างงานและการทำงานไม่เต็มที่ในชนบทซึ่งประมาณว่ามีไม่น้อยกว่า 100 ล้านคนเป็นปัญหาใหญ่  การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่วนหนึ่งมาจากทุนต่างประเทศ กระจุกตัวอยู่แถบในเมืองฝั่งตะวันออกและภาคใต้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของคนในประเทศมากขึ้น การวัดดัชนีการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP ที่วัดจากหลาย ปัจจัยประกอบกันทั้งรายได้ , การศึกษา ,        สาธารณสุข และการพัฒนาทางสังคมด้านอื่น ๆ   พบว่าในปี ค.ศ. 1998 จีนอยู่อันดับ  99  จาก  174   ประเทศ (ไทยอยู่อันดับ 76) การที่จีน เปลี่ยนมาดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบระบบตลาดภายใต้รัฐบาลแบบอำนาจนิยม ได้สร้างปัญหาการทุจริตฉ้อฉล, ความหลงไหลในเงินทอง การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน (ซึ่งยังไม่มีสหภาพแรงงานแบบเสรีที่เข้มแข็ง)  ปัญหาโสเภณี และปัญหาสังคมอื่น ๆ       รวมทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชน และปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อมตามมามากมาย  ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทรัพยากรในประเทศของคนต่างภูมิภาคและต่างกลุ่มจะ นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมมากขึ้น แม้ว่ากล่าวโดยเปรียบเทียบกับรุสเซียแล้ว จีนจะปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบตลาดได้ดีกว่า แต่ปัญหาที่ซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ก็ยังมีมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น