วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฏิรูปภายใต้การนำของชาวแมนจู สามขบวน

                                ขบวนการปฏิรูปนั้นอาจแบ่งได้เป็น สามระลอก  ระลอกแรกนำโดย  คังอิ่วหวุย ภายใต้ความอุปถัมภ์ของจักรพรรดิหนุ่ม  กวางซวี่ ผู้ซึ่งพยายามจะปลดแอกจากการบงการของพระราชชนนี ฉือซี  เพื่อกอบกู้ประเทศของตน  ในปี ๑๘๙๘  คังอิ่วหวุยได้สามารถชักจูงกให้จักรพรรคิด กวาง  ซวี่  ออกพระบรมราชโองการเกี่ยวกับการปฏิรูปในทางการบริหารและการศึกษามากมาย  การปฏิรูปภายใต้การนำของคังได้ดำเนินการคึกคักไปได้ ๓ เดือนเศษ  ก็ต้องถูกพวกถอยหลังเข้าคลองทำลายโครงการตามพระบรมราชโองการนั้นหมดสิ้น  การปฏิรูปนำโดยคังนี้ต่อมาได้รับขนานนามว่า  การปฏิรูปร้อยวัน (Hundred  days  Reform)
                                การปฏิรูปตามแผนการของคังนั้นมีขอบเขตอย่างกว้างขวาง  เริ่มตั้งแต่กลางปี ๑๘๙๘ คังและพรรคพวกได้เริ่มประกาศยกเลิกองค์การบริหารที่ไร้ประโยชน์เสียสิ้น  กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดราชการทหารแห่งชาติได้รับการแก้ไขให้ทันสมัยยิ่งขึ้น  ระบบการสอบแข่งขันข้าราชการพลเรือนได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย  เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ในด้านวิชาการสมัยใหม่เข้ารับราชการ  พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ    ให้จัดตั้งราชมหาวิทยาลัย ณ กรุงปักกิ่ง  ซึ่งจะให้มีการสอนศิลปะและวิชาการของฝ่ายตะวันตก  นอกจากนั้น คังได้สนับสนุนการพัฒนาการค้า  การอุตสาหกรรม  การคมนาคม  และกระชับสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศให้ดีขึ้น  พิจารณาดูตามแผนการแล้วก็เหมาะสมกับเหตุการณ์อยู่มาก  ถ้าหากได้มีการปฏิบัติจริงจังจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของระบบการบริหาร  และอาจจะเป็นการต่ออายุของราชวงศ์แมนจูต่อไปอีก  แต่พวกถอยหลังเข้าคลองในพระราชสำนักแมนจู  ภายใต้ปลายนิ้วมือของพระราชชนนี ฉือซี ได้เข้ายึดอำนาจ  คนชั้นนำในการปฏิรูปหลายคนได้ถูกสังหาร  คังอิ่วหวุยและเหลียงฉี่เชาได้หนีเอาชีวิตรอดไปอยู่ญี่ปุ่น  จักรพรรดิ         กวาง  ซวี่  ถูกจับเข้าที่จำขัง  หยุ่งลู่และหยวนซื่อไข่  ผู้มีความดีความชอบในการยึดอำนาจได้เป็นกำลังในรัฐบาลภายใต้ปลายนิ้วมือของพระราชชนนี ฉือซี อีกต่อไป
                                เมื่อพวกปฏิรูปถูกกำจัดไป  และเมื่อกบฏมวย (Boxer  Rebellion, 1900)  ได้แสดงความบ้าบิ่นต่อชาวโลกจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า  จีนไม่อาจจะขับไล่ผู้รุกรานออกไปจากผืนแผ่นดินโดยพละกำลังได้แล้ว  พวกถอยหลังเข้าคลองเองก็จำต้องมาตั้งต้นดำเนินการปฏิรูปใหม่  แต่เป็นที่เห็นได้ว่า  พวกนี้กระทำไปเพื่อที่จะรักษาอำนาจของตนเท่านั้น  โดยมุ่งหวังว่าการกระทำของตนจะเป็นการลดเพลาน้ำเสียงเรียกร้องการปฏิวัติ       เพื่อโค่นล้มรัฐบาลแมนจูที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ  พวกนี้ไม่ได้ส่อให้เห็นว่าจะสามารถพาประเทศจีนให้ก้าวไปข้างหน้าได้เลย  ถ้าจะพิจารณาทั้งในด้านสติปัญญาและน้ำใจของผู้นำ
                                กระแสคลื่นก่อการปฏิรูปครั้งที่ ๒ ได้เริ่มขึ้นในปี ๑๙๐๑  หลังจากที่มหาอำนาจตะวันตก  รวมทั้งญี่ปุ่น  ได้ช่วยกันทำลายและเผาผลาญพระราชวังและห้องสมุดของราชวงศ์แมนจู  และจีนต้องถูกชดใช้กรรมของการกระทำตามเคยแล้ว  พระราชชนนี ฉือซี ก็ได้ชี้มือให้ผู้ที่จงรักภักดีต่อพระนางจัดการพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตกต่อไป  ระบบการสอบแข่งขันข้าราชการที่ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานแล้วก็ได้สั่งยกเลิก  แผนการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศก็ได้เริ่มขึ้น  ซึ่งส่วนมากไปเรียนที่ญี่ปุ่น  ขั้นต่อไปก็มีการจัดตั้งโรงเรียนสมัยใหม่ขึ้น  อย่างไรก็ตาม  การปฏิรูปแบบเฉื่อยชาเช่นนี้หามีผลสั่นคลอนโครงร่างอันมั่นคงของสังคมจีนได้ไม่  ในทางตรงกันข้าม  เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่ฝ่ายก่อการปฏิวัติ  ซึ่งในขณะนั้นซุนยัดเซ็นได้ผุดขึ้นมาเป็นผู้นำของขบวนการปฏิวัติภายนอกผืนแผ่นดินจีนแล้ว  แม้ว่าพระราชสำนักจีนจะได้พยายามส่งผู้คนไปกำจัดซุน  แต่เขาก็สามารถปรากฏตัวและดำดินได้ถูกจังหวัดรอดพ้นมาได้ราวกับปาฏิหาริย์
                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น