วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จักรวรรดินิยมกับจีนในสมัยกบฏไถ้ผิง

                                ในระยะเริ่มแรก  ชาวต่างประเทศที่มีผลประโยชน์       อยู่ในประเทศจีนต่างก็วางท่าทีเป็นกลางในเหตุการณ์กบฏครั้งนี้  แต่ผู้สังเกตการณ์เชื่อกันว่าชาวต่างชาติส่วนมากเอากำลังใจหนุนหลังพวกกบฏอยู่อย่างไม่เป็นทางการ  ความเป็นผู้ถือศาสนาคริสต์ของผู้นำกบฏไถ้ผิง               ได้สามารถเรียกร้องความสนับสนุนจากพวกหมอสอนศาสนาได้  เดิมทีบรรดาพ่อค้าต่างหวังกันว่ารัฐบาลกบฏอาจมีน้ำใจเป็นมิตรกับพวกพ่อค้ามากกว่ารัฐบาลแมนจู  แต่ต่อมาภายหลัง  เมื่อปรากฏโฉมหน้าอันแท้จริงของกบฏไถ้ผิงแล้ว  ท่าทีของชาวต่างประเทศก็กลับหันไปสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล
                                ต่างชาติกังวลอยู่แต่ในเรื่องแก้ไขสนธิสัญญานานกิง ปี ๑๘๔๒ เพื่อให้คนได้รับผลประโยชน์มากขึ้นกว่าสิ่งอื่น  แม้ว่าสงครามฝิ่นจะได้ผ่านพ้นไปด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายจีน  และสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมจะได้เป็นเครื่องหมายเป็นที่ประจักษ์ก็ตาม  รัฐบาลปักกิ่งก็ยังวางท่าทีความเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่อยู่อย่างเดิม  พยายามหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการตามข้อกำหนดในสนธิสัญญานั้นเสมอมา  ท่าทีของฝ่ายจีนเช่นนี้เจ้าหน้าที่           ส่วนภูมิภาคผู้ซึ่งได้ปกครองส่วนท้องถิ่นกึ่งอิสระนั้น  ย่อมต้องแบกความรับผิดชอบอยู่บ้าง  ในการเจรจา          ทำสนธิสัญญานานกิง ปี ๑๘๔๒ นั้น  ผู้แทนรัฐบาลปักกิ่งได้ยืนยันอย่างแข็งขันในการที่จะไม่อนุญาตให้            ชาวต่างประเทศตั้งสถานทูตขึ้นในกรุงปักกิ่ง  แต่ให้ผู้แทนต่างประเทศทำการติดต่อกับประเทศจีน  โดยผ่านข้าหลวงตรวจการของมณฑลกวางตุ้งและกวางสี  ซึ่งแม้แต่ข้าหลวงตรวจการเองก็ไม่ยอมถ่อมตัวลงมาเจรจากับผู้แทนต่างประเทศ  การปฏิบัติเช่นนี้อาจมุ่งหวังที่จะลบหลู่ชาวต่างประเทศและให้ชาวต่างประเทศหน่ายหนี      ไปเองก็ได้  นับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญของรัฐบาลจีนที่จะเข้าใจปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างถูกต้อง
                                การปฏิบัติการตามสนธิสัญญามิได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะจีนเป็นฝ่ายถูกบังคับให้ปฏิบัติตามอย่างไม่เต็มใจ  ชาวต่างประเทศก็ไม่พอใจที่จะได้แต่เฉพาะสิทธิตามสนธิสัญญานั้น  นอกจากนั้นความขัดแย้ง   ในเรื่องผลประโยชน์มักจะเกิดขึ้นเสมอ  การค้าฝิ่นได้ดำเนินต่อไปอย่างขนานใหญ่  คนจีนไปทำงานในคิวบา  เปรู  อเมริกาใต้  ก็ได้เพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้น  สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเรื่องการศาลได้ก่อความแค้นเคืองแพร่หลายไปถึงประชาชนทั่วไป
                                สิทธิสัมปทาน (Concessions) ในเมืองท่าตามสนธิสัญญา  ก็ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาก  สัมปทานนี้เป็นสถานที่พักอาศัย  และเป็นที่ตั้งของสำนักงานและโกดังสินค้าของพ่อค้าชาวต่างชาติ  เมื่อดินแดนเหล่านี้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้แก่ประเทศต่าง ๆ แล้ว  ประเทศเหล่านั้นก็ได้จัดสรรที่ดินออกเป็นเขต  แล้วให้คนในสัญชาติของตนและในบางกรณีคนในสัญชาติจีนเช่า  ในที่สุดชุมชนต่างชาติเช่นว่านี้ก็จัดตั้งองค์การปกครองตนเองขึ้นมาในรูปเทศบาล  ในครั้งแรกดินแดนเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน  ตามกฎข้อบังคับว่าด้วยที่ดิน  ปี ๑๘๔๕  ซึ่งได้มีการแก้ไขหลายครั้ง  และในที่สุดในปี ๑๘๘๑ เขตสัมปทานเหล่านี้ได้แยกตัวเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลจีนอย่างเด็ดขาด  เขตสัมปทานเช่นนี้ได้ปกคลุมไปทั่วทุกแห่งในดินแดนเมืองท่าการค้าที่ชาวต่างประเทศทำไว้ตามสัญญาปี ๑๘๔๒ และที่ทำกันภายหลัง
                                เฉพาะในเขตเซี่ยงไฮ้นั้น  ระบบการสัมปทานได้แตกต่างกับเมืองอื่นเล็กน้อย  เจ้าหน้าที่แห่งนี้เองมิได้ให้สัมปทานแก่ชาวต่างชาติ  แต่เจ้าของที่ดินเองเป็นผู้ให้ชาวต่างชาติเช่าในช่วงเวลาไม่มีกำหนด  ในกาลต่อมากงสุลของชาติต่าง ๆ ได้ใช้สิทธิในทางการศาลภายในเขตที่พักของคนภายใต้สัญชาติของตัว  และเนื่องจากประเทศทั้งหลายเช่าอยู่ภายในดินแดนต่อเนื่องกัน  ประเทศเหล่านั้นจึงจัดตั้งผู้แทนของตนเองตรวจตราควบคุมกิจการการปกครองร่วมกัน  ชุมชนต่างชาติในเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า  สถานอาศัยนานาชาติ (International  Settlement)  ซึ่งมีประเทศฝรั่งเศสประเทศเดียวเท่านั้นที่รักษาความเป็นเอกเทศในสัมปทาน       ของตัว  จุดประสงค์เบื้องแรกของสถานอาศัยนานาชาตินี้  ก็เพื่อให้ชาวต่างชาติอยู่เท่านั้น  แต่ต่อมามีชาวจีนเข้าไปเช่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
                                ในระยะเดียวกับที่เกิดกบฏไถ้ผิงนี้  ชาวต่างชาติต้องการจะแก้ไขสนธิสัญญาในเรื่อง                เขตสัมปทาน  ขยายเมืองท่าการค้าให้มากขึ้น  และต้องการให้มีความสัมพันธ์ในฐานะเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องผ่านข้าหลวงตรวจการประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหัวหน้าของผู้แทนชาวต่างชาติที่มีความสัมพันธ์กับจีน  ก็เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ตนต้องการ
                                ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำประเทศจีนได้ส่งข้อเสนอขอแก้สนธิสัญญาต่อข้าหลวงตรวจการประจำเมืองกวางตุ้ง  แยะหมิงเฉิง  แต่แยะมิให้คำตอบแต่ประการใด  เมื่อจอห์น  บาวริง (John  Bowring) ดำเนินการติดต่อกับรัฐบาลโดยตรง  ปักกิ่งก็ได้มีบัญชาให้ไปติดต่อกับข้าหลวงตรวจการ  บาวริงต้องอดรน        ทนไปจนกระทั่งภายหลัง สงครามแอโร (Arrow War) อันมีสาเหตุมาจากตำรวจชายฝั่งจีนเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกบฏต่อรัฐบาล ในเรือ Arrow  ซึ่งเจ้าของเรือเป็นคนจีนแต่จดทะเบียนเรือสัญชาติอังกฤษและใช้ธงอังกฤษ  อังกฤษร่วมกับฝรั่งเศสใช้กำลังทหารเข้าบังคับในปี ๑๘๕๗ และได้มาซึ่งสนธิสัญญาเทียนสิน (Treaty  of  T’ientsin, 1857) สนธิสัญญานี้ได้ขยายขอบเขตแห่งสัญญาไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสนธิสัญญานานกิง ๑๘๔๒ ข้อกำหนดสิทธิที่ได้มาใหม่ที่สำคัญ  กล่าวโดยย่อ คือ
                                (๑)  สิทธิตั้งผู้แทนทางการทูต ณ กรุงปักกิ่ง
                                (๒) สิทธิของชนต่างด้าวในการเดินทางในประเทศจีนได้โดยเสรี  โดยมีหนังสือเดินทาง
                                (๓) สิทธิในการค้าและตรวจตราตามเขตลำน้ำแยงซี  และเมืองท่าชายทะเลอีกหลายเมือง
                                (๔) สิทธิในการเผยแพร่ศาสนาในแผ่นดินจีนได้โดยเสรี
                                นอกจากนั้น  รัฐบาลปักกิ่งต้องรับชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  แต่ก่อนที่ร่างสนธิสัญญานี้จะได้      มีการให้สัตยาบัน  ยังมีพวกที่ต้องการทดลองกำลังกับมหาอำนาจตะวันตกพวกหนึ่งขึ้นมาบัญชาการไม่ยอมให้สัตยาบันตามร่างสนธิสัญญา  จนกระทั่งอังกฤษและฝรั่งเศสได้ส่งทหารเข้าทำลายกรุงปักกิ่งและพระราชวังอย่างยับเยิน  รัฐบาลจีนจึงยอมให้สัตยาบันในร่างสนธิสัญญาเทียนสิน  และต้องเสียสิทธิอีกหลายประการในปี ๑๘๖๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น