วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มูลเหตุบาดหมางระหว่างจีนกับอังกฤษ

                                ฐานะการค้าระหว่างจีนกับอังกฤษได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปี ๑๘๓๓  รัฐสภาอังกฤษได้ตัดสิทธิพิเศษในการผูกขาดการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ  รัฐบาลได้เปลี่ยนนโยบายจากการส่งผู้แทนเพื่อทำการเจรจากับรัฐบาลจีนในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทมาเป็นตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษโดยตรง  ในเดือนธันวาคม ๑๘๓๓ รัฐบาลอังกฤษได้แต่งตั้ง ลอร์ด นาเปียร์ (Lord Napier) ไปเป็นผู้ตรวจตราควบคุมประจำเมืองกวางตุ้ง  โดยมีหน้าที่พิเศษในการเจรจาทำสัญญาการค้าเป็นทางการกับรัฐบาลจีน  ลอร์ด นาเปียร์ ได้เดินทางถึงเมืองกวางตุ้งในเดือนกรกฎาคม ๑๘๓๔ และได้เดินทางไปยังหอการค้าที่เหมืองหวงผู่  โดยปราศจากคำอนุญาตจากข้าหลวงตรวจการของจีนประจำเมืองกวางตุ้ง  เมื่อลอร์ด นาเปียร์ ได้พยายามติดต่อกับข้าหลวงตรวจการ  จดหมายของเขาก็ไม่ได้รับพิจารณาโดยเหตุที่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามแบบฟอร์มของทางการที่มีไว้  เมื่อนาเปียร์ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามระเบียบของทางการจีนที่วางไว้  ข้าหลวงตรวจการของจีนจึงประกาศยุบสิทธิการค้าของอังกฤษ  นาเปียร์ได้สั่งให้เรือรบอังกฤษ ๒ ลำเคลื่อนเข้าสู่เมืองกวางตุ้งเพื่อเป็นการขู่ขวัญทางการจีน  ข้าหลวงตรวจการโต้ตอบการคุกคามของอังกฤษผ่านโคหอง  โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะใช้กำลังต่อสู้กับการคุกคามของอังกฤษ  เว้นแต่นาเปียร์จะได้ถอยไปสู่เมืองหมาเก๊า  แต่ถ้า    นาเปียร์ปฏิบัติตาม  รัฐบาลจะประกาศยกเลิกข้อห้ามการค้าเสีย  ประจวบกับนาเปียร์ได้ล้มเจ็บในเดือนกันยายน ๑๘๓๔  เขาจึงได้ถอนเรือรบไปพักรักษาตัวอยู่ที่หมาเก๊า  การค้าได้กลับคืนสู่สภาพเดิม  นาเปียร์ได้ถึงแก่กรรมด้วยไข้มาเลเรีย  เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นบ่อเกิดของความเป็นศัตรูกันระหว่างจีนกับอังกฤษ
                                หลังจากปี ๑๘๓๕  ควันสงครามระหว่างอังกฤษกับจีนก็ได้ร้อนระอุขึ้นตามลำดับ  อังกฤษคาดการณ์ว่าตนมีกำลังพอที่จะท้าทายความเป็นเจ้าโลกของจีนแล้ว  ลอร์ดพาลเมอสตัน (Lord Palmerston) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตัดสินใจจะพยายามให้ได้มาซึ่งสัญญาทางการค้ากับจีนในฐานะ      เท่าเทียมกัน  แม้จะต้องใช้กำลัง   ในปี ๑๘๓๘ กองเรือรบของอังกฤษได้ไปรวมอยู่ตอนใต้ของประเทศจีน  แต่จีนก็ยังถือว่าตนเป็นประเทศใหญ่  และถ้าอังกฤษต้องการทำการค้ากับจีนก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจีนต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น