วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การค้าและการลงทุน ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                              จีนกำลังคุกคาม หรือ เป็นตัวกระตุ้น หรือ เป็นอะไรกันแน่ ?
              การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนทำให้เกิดการวิเคราะห์เรื่องบทบาทของจีนต่อ เศรษฐกิจของประเทศเอเชียอื่น ๆ และ ต่อโลกต่างๆ นานา  มีทั้งพวกที่มองในแง่ร้าย และ มองในแง่ดี พวกที่มองในแง่ ร้ายจะมองว่า จีนจะเป็นผู้คุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการแย่งส่วนแบ่งตลาด, ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การมีงานทำ ไปจากประเทศเหล่านี้ และทำให้เกิดความปั่นป่วนในภูมิภาค บางคนก็วิเคราะห์ว่าเนื่องจากจีนมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ตายตัว การมุ่งสร้างเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีอย่างรวดเร็ว เมื่อก้าวไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และ การล่มสลายของระบบการปกครองและเศรษฐกิจของจีน 
                ความแตกต่าง พื้นฐานของนักวิเคราะห์ในทางบวก และ นักวิเคราะห์ในทางลบอยู่ที่ความเข้าใจในพลวัตการปฏิรูปของจีน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า จีนมีปัญหาใหญ่หลายประการ เช่น ระบบธนาคาร และรัฐวิสาหกิจที่ด้อยประสิทธิภาพ , ปัญหาการว่างงาน , คุณภาพประชากรและโครงสร้างพื้นฐาน , ปัญหาการพัฒนาที่ไม่สมดุล ระหว่างภาคต่าง ๆ ภาวะการต้องแข่งขัน กับประเทศอื่น หลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก ฯลฯ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เราควรมองปัญหาและการคลี่คลายในลักษณะพลวัต การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และ ความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลจีนยังคงดำเนินต่อไป  ไม่ได้หยุดนิ่ง ปล่อยให้ปัญหาเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การล่มสลาย  นักวิจารณ์ที่ มองในแง่ลบ  มองว่าทั้งปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจและปัญหาความขุ่นมัว และ ฉ้อฉลของระบบการเมือง คือปัจจัยสำคัญ ที่จะนำจีนไปสู่ความล่มสลาย  และพวกเขาก็เฝ้ามองดูคำพูดและการกระทำของผู้นำจีน ว่าเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ จะนำจีนไปสู่ความล่มสลายหรือไม่ แต่พวกเขาไม่ได้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทางการเมืองสังคม และเศรษฐกิจ กำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งอำนาจบริหารจากส่วนกลางด้วย การเปลี่ยนแปลงจากส่วนอื่น ๆ ในสังคมทั้งภายในจีนเอง และ ระบบเศรษฐกิจโลก จะเป็นตัวกำหนดให้ผู้นำจีนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องด้วย ไม่ใช่ว่าผู้นำจีนจะไม่เปลี่ยนท่าทีเลย
              ตั้งแต่ปี 1980 เศรษฐกิจสังคมจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จากระบบเศรษฐกิจที่แทบไม่ใช้เงิน แต่ใช้คูปอง คะแนนการทำงาน ภูมิหลังทางการเมือง ขนาดและอิทธิพลของหน่วยงานมาเป็นตัวตัดสินใจ ว่าใครควรจะมีเงื่อนไขการดำรงชีวิตอย่างไร มาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบตลาดเป็นตัวตัดสิน จากระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเคยเป็นคนตัดสินว่าประชาชนควรจะมีกิจกรรมทาง เศรษฐกิจอย่างไร และจะได้รับสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตได้อย่างไร  กลายมาเป็นกระบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่เริ่มในปี 1978 ที่ปลดปล่อยประชาชนส่วนใหญ่ให้เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเศรษฐกิจภาคเอกชนได้เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีปัจเจกชนและหน่วยธุรกิจที่ครัวเรือนเป็นเจ้าของหลายร้อยล้านหน่วย กลายเป็นกระดูกสันหลังของการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและร่ำรวยกว่าเก่า
              การเติบโตของ หน่วยธุรกิจภาคเอกชน เป็นส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีน การที่หน่วยธุรกิจเอกชนมีรายได้และเงินออมมาก ช่วยพยุงให้ภาคธนาคารของรัฐที่อ่อนแอยังคงดำเนินต่อไปได้ รวมทั้งมีโอกาสที่จะปฏิรูปเช่นลดการให้สินเชื่อลงได้โดยไม่พังลงเสียก่อน ธุรกิจภาคเอกชนช่วยรองรับการจ้างงานใหม่และช่วยบรรเทาปัญหาการที่ภาค วิสาหกิจปฏิรูป ด้วยการปลดคนงานออกมาจำนวนมาก ภาคธนาคารเองก็ ได้มีโอกาสได้ขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและชนชั้นกลางใหม่ โดยมีที่ดินค้ำประกัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และทำกำไรให้ธนาคารมากกว่า การปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะรัฐวิสาหกิจแบบเก่า การเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสของประเทศจีน แม้กระนั้นก็ตาม การเมืองก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก เพราะเศรษฐกิจก็ต้องดำเนินไป ภายใต้กฎหมายและสถาบันต่าง ๆ เมื่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเข้มข้นขึ้น ก็จะผลักดันให้สถาบันทางการเมือง ต้องปฏิรูปด้วย  แต่จะปฏิรูปได้อย่างราบรื่น หรือ มีความขัดแย้งที่รุนแรงหรือผันผวนในบางส่วนหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามวิเคราะห์กันต่อไป แต่เราต้องมองว่า การเมืองก็เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน การมองว่า เศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วขณะที่การเมืองหยุดนิ่ง ซึ่งนำไปสู่การพังทลายนั้น จึงเป็นการมองแง่ร้าย อย่างไม่สมจริง  การมองว่าจีน เป็นผู้คุกคามทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียอื่น ๆ อย่างสุดโต่ง อาจเป็นการมองในแง่ร้ายเกินความจริง 
                ในทศวรรษ 1980  ก็มีผู้มองว่า การเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นการคุกคามประเทศเอเชียอื่น ๆ เช่นกัน หรือ ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ 4 เสือของเอเชียในทศวรรษที่แล้วก็เติบโตในอัตราสูงมาก แต่การเติบโตของ ญี่ปุ่น และ ประเทศ 4 เสือ คือ ฮ่องกง, ไต้หวัน , เกาหลี , สิงคโปร์ ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศเอเชียอื่น ๆ ล่มจมแต่อย่างใด ธนาคารเพื่อการลงทุนอย่าง โกลด์แมน แซคส์ วิเคราะห์ว่า  การมองว่าขนาดที่ใหญ่มากของจีน จะแย่งงานแย่งตลาดต่างประเทศไปหมดนั้น เป็นการมองที่มีจุดอ่อน เปรียบเทียบขนาดทางเศรษฐกิจแล้ว จีนยังไม่เป็นยักษ์ใหญ่ถึงขนาดนั้น แม้จีนจะมีประชากรถึง 20% ของประชากรโลก แต่ถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน คิดเป็นเพียง 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน มีสัดส่วนเพียง 4% ของมูลค่าการค้าทั่วทั้งโลก การที่จีนยังมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 900 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ที่ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนา     อุตสาหกรรมหลายสิบเท่า ทำให้จีนยังห่างไกลต่อการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมาก ผลิตภัณฑ์มวล รวมของจีน ยังอยู่ในราว 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่น และยังเล็กกว่าเยอรมันและอังกฤษ ด้วย แม้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนจะสูงว่า GDP  ของจีนเอง  แต่ก็ยังมีมูลค่าต่ำกว่าการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และอยู่ในราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐและสหภาพยุโรปรวมกัน จริงอยู่ที่ว่า ทั้ง GDP และ การค้าระหว่างประเทศของจีนเจริญเติบโตในอัตราสูงกว่า ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม แต่พลังทางเศรษฐกิจไม่ได้วัดจากมูลค่า GDP และการค้าเท่านั้น ต้องดูจากความเข็มแข็งทางการเงินการธนาคารด้วย ซึ่งจีนยังล้าหลัง ประเทศอื่นมากในเรื่องนี้ ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ของจีนเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ถ้าเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเล็กกว่ายอดรวมของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเอเชียอื่น ๆ   ไม่ต้องเทียบกับตลาดยักษ์ใหญ่ อย่างสหรัฐ และ ยุโรป มูลค่าการแลกเปลี่ยนเงินตราในแต่ละเดือน ของจีนก็เล็กมาก และเงิน หยวน ของจีน  ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีมากกว่าจะเป็นเงินระหว่างประเทศสกุลแข็งได้ (เพราะแม้ว่าเงินหยวนจะมีความเข้มแข็ง แต่ก็มีการควบคุม ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี เหมือน ดอลลาร์ , ยูโร , เยน ฯลฯ ) การที่จีนส่ง ออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งก็คือการลงทุนและการส่งออกของบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่น ทุนและสินค้าขั้นกลางจำนวนมากจากญี่ปุ่นและประเทศอื่น ถูกส่งไปเอเชียโดยเฉพาะประเทศ 4 เสือ ซึ่งส่งต่อชิ้นส่วนไปจีนและประเทศเอเชียอาคเนย์อื่นที่พัฒนาน้อยกว่า   เพื่อประกอบแล้วส่งออกไปสู่ตลาดปลายทางอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของการส่งออกของจีน  ประโยชน์ส่วนหนึ่งก็จะไปตกกับธุรกิจของประเทศในเอเชียอื่น ๆ ด้วยเราจะดูเฉพาะ ตัวเลขการส่งออกของประเทศต่าง ๆ คงไม่เพียงพอ ต้องดูว่าเป็นการลงทุนของใคร วัตถุดิบ , ชิ้นส่วนหรือสินค้าดั้งเดิมมาจากไหนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น