วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจจีนยุคปัจจุบัน

ตัวเลขความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ GDP สะท้อนเพียงแค่มูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่มีการผลิตและซื้อขายในประเทศในรอบปีเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะร่ำรวยขึ้นเท่ากันตามตัวเลขดังกล่าว เช่น ภาคอุตสาหกรรม โตในอัตราที่สูงกว่าภาคเกษตรมาก ทั้งจีนเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจ ระหว่างมณฑล และ เมืองต่าง ๆ และระหว่างกลุ่มชนอย่างมากมาย GDP เติบโตสูงจึงให้ประโยชน์คนต่างกัน นอกจากนี้ GDP บางส่วนก็สะท้อนการลงทุน และการค้าของบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่นด้วย (กรณีของไทยก็คล้ายกัน)ตัวเลขการส่งออกของจีน (เช่น เดียวกับของไทย) เป็นตัวเลขที่รวมตัวเลขของการเข้ามาลงทุน , สั่งสินค้าต่างประเทศเข้ามาประกอบ และ ส่งออกไปใหม่ ของบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่น เป็นสัดส่วนที่สูง  ซึ่งยังไม่มีการจำแนกตัวเลขเหล่านี้อย่างจริงจัง การคิดอย่างง่าย ๆ ว่าตัวเลขส่งออก คือรายได้เข้าประเทศทั้งหมดไม่ถูกต้อง
ในระบบเศรษฐกิจที่เปิดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนและค้าขายได้อย่างเสรี เช่น จีนและไทย การส่งออกจำนวนมากเป็นการส่งออกของบริษัทข้ามชาติ เราต้องวิเคราะห์ตัวเลขการสั่งเข้า , ทุนที่ไหลเข้ามา, ทุนที่ไหลออกไป การจ้างงาน , การใช้ทรัพยากรภายในประเทศ , และตัวเลขอื่น ๆ ประกอบด้วย จึงจะเข้าใจฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้ใกล้เคียงความเป็นจริง  จีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ การขนส่งภายในประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง มีกฎเกณฑ์การค้าและการเก็บภาษีของมณฑล ,และเมืองต่าง ๆ ที่แตกต่างกันมาก หลายมณฑลก็ยากจนและแต่ละมณฑลพยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของตน ทำให้แนวคิดของผู้นำรัฐบาลไทย หรือนักธุรกิจบางคน ที่คิดว่าจีนจะเป็นตลาดใหญ่ของคน 1,300 ล้านคน เป็นการมองด้านเดียวอย่างผิวเผินเกินไป ดังจะเห็นได้จากกรณีรัฐบาลไทยรีบเปิดเสรีการค้าผักและผลไม้กับจีน ปรากฏว่าจีนส่งเข้าไทยสะดวกและเพิ่มการส่งออกมาให้ไทยได้สูงกว่าที่ไทยสามารถขายผักผลไม้ให้จีนได้หลายเท่า ซึ่งสะท้อนว่าไทยยังขาดองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับจีนเราควรมองว่าจีนคือ ผู้ผลิตผู้ขายรายใหญ่ ที่ผลิตสินค้าหลายอย่างได้ต้นทุนต่ำกว่าไทย และสามารถที่จะส่งไปขายในไทยและประเทศอื่น แบบทุ่มตลาดได้ด้วย 
ดังนั้นการที่รัฐบาลจะทำสัญญาเปิดเสรีการค้ากับใครรายการไหน เมื่อไหร่นั้น เราควรศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองของประเทศนั้นให้เข้าใจรายละเอียดเสียก่อน ไม่ควรผลีผลามรีบเซ็นสัญญาเปิดการค้าเสรี  ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ผู้ผลิตที่เข้มแข็ง และเป็นผู้บริโภค ชอบซื้อของคนอื่นมากกว่ามีแนวโน้มเอียงทางจิตวิทยาและวิธีคิดของคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่ง ที่มักมองจีนอย่างชื่นชม หรือมองจีนในแง่ดีอย่างสุดโต่งเกินไป เราควรจะมองจีนจากสภาพโลกความเป็นจริงอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน และมองว่าจีน (เช่นเดียวกับทุกประเทศ) ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเป็นเรื่องหลัก การคาดหมายว่าจีนจะรู้สึกเป็นมิตรกับไทยมากเป็นพิเศษ  เป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึกตัดสิน มากกว่าการพิจารณาความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกทุนนิยมปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันกันสูงมาก การร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ก็มีความจำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในระบบทุนนิยมโลก ไทยมีผลประโยชน์ที่ต่างจากจีน (และทุกประเทศ) เราจึงต้องรู้เท่าทันโลก ไม่วิเคราะห์สถานการณ์แบบเอนเอียงสุดโต่งสถิติทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึงจะเป็นเฉพาะของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่รวม ฮ่องกง , มาเก๊า ซึ่งยังถือเป็นเขตเศรษฐกิจต่างหาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น