วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความรุ่งเรืองและจุดจบของหยวนซื่อไข่

                                การปฏิวัติครั้งที่ ๑ ปี ๑๙๑๑  และการปฏิวัติครั้งที่สอง ปี ๑๙๓ ได้ประสบความล้มเหลว  เป็นที่เห็นได้ว่าระบบสาธารณรัฐมีชีวิตอยู่ไม่ได้ภายใต้การนำของหยวน     ความล้มเหลวครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าพลังแห่งอุดมการณ์ระบอบสาธารณรับยังไม่แรงพอที่จะผลักดันนโยบายปฏิวัติ ๓ ประการ ของซุนให้บรรลุผล  นักการเมืองทั้งหลายพากันแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว  แม้แต่สมาชิก             ก๊กมินตั๋งเองก็ตกเป็นเหยื่อของเครื่องล่อใจ  ในระยะใกล้เคียงกับการปฏิวัติครั้งที่ ๒ นั้น  ปรากฏว่าลูกพรรค      ก๊กมินตั๋งยังยึดถือป้ายพรรคอยู่เพียง ๑๕๐ คนเท่านั้น
                                การปฏิวัติมิได้รับการสนับสนุนจากมวลชน  ชาวจีนส่วนมากสำนึกแต่เพียงที่จะโค่นล้มราชวงศ์แมนจู  และการแอนตี้จักรวรรดินิยมเท่านั้น  นักการเมืองเป็นอันมากถือระบบพรรคการเมืองเสมือนหนึ่งสมาคมการค้า  บ้างก็เป็นสมาชิกของ ๒ พรรค หรือมากกว่านั้นขึ้นไปเพื่อเป็นเกียรติแก่พรรค  นโยบายของพรรคก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างกันมากนัก  ในทางตรงกันข้าม หยวนเป็นคนเข้มแข็ง  กล้าใช้เครื่องมือที่ตนมีอยู่ทุกวิถีทางโดยไม่ยอมเข้าใจหลักการปฏิวัติหรือระบบสาธารณรัฐแต่ประการใด  ประวัติศาสตร์ไม่ควรกล่าวว่าหยวนแต่คนเดียว        เป็นประเพณีของคนจีนที่ใครเป็นใหญ่แล้วผู้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดมักจะหลับตาเดินตาม  หลี่หยวนหูง                 รองประธานาธิบดีซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายก่อการปฏิวัติ ก็กลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกันของหยวนไป  หยวนได้รับความร่วมมือจากข้าราชการอาวุโสผู้ซึ่งเป็นศัตรูของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวย  เขาได้รับการสนับสนุนจากผู้เดินสายกลาง  เหลียงฉี่เชาและพรรคก้าวหน้า (จิ้นปู้ตั่ง)  นอกจากนั้นมหาอำนาจต่างประเทศผู้ซึ่งมีความหวั่นเกรงต่อพลังแห่งลัทธิชาตินิยมที่กำลังงอกงามในบรรดานักก่อการปฏิวัติ ก็พร้อมใจกันให้ความช่วยเหลือหยวนในด้านการเงิน
                                ภายหลังหยวนได้ชัยชนะในการปราบปราม การปฏิวัติครั้งที่ ๒ แล้ว  เขาก็ดำเนินการรวบรวมกำลังและเดินก้าวต่อไป  ใช้ปืนและเงินเป็นเครื่องหนุน  หยวนสามารถหาคะแนนเสียงจากรัฐสภาให้เลือกเขาเป็นประธานาธิบดี (ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๑๙๑๓) ภายในหนึ่งเดือนต่อมาคือวันที่         ๔ พฤศจิกายน  ด้วยความร่วมมือของคณะรัฐมนตรีและนายทหารประจำส่วนภูมิภาค  หยวนสั่งยุบก๊กมินตั๋ง     โดยกล่าวหาว่าเป็นองค์การส่งเสริมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล  สมาชิกรัฐสภาที่เป็นสมาชิกหรือมีความสัมพันธ์กับก๊กมินตั๋ง จำนวน ๔๓๘ คน ถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่งโดยไม่มีการเลือกตั้งใหม่  สมาชิกรัฐสภาที่เหลือก็ยังคงทำงานให้หยวนต่อไป  ก่อนหน้าที่สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งถูกปลดออกไปนั้น  รัฐสภาได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อต้องการจะจำกัดอำนาจของประธานาธิบดี  และในวันที่ ๒๖ ตุลาคม  วุฒิสภาได้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งไม่เป็นที่พอใจของหยวนอีกตามเดิม  เขาจึงถือโอกาสเอาความไม่สมบูรณ์ของรัฐสภาที่เหลือเป็นข้ออ้างยุบสภาเสีย  ในเดือนมกราคม ๑๙๑๔ หยวนมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ส่วนจังหวัดแต่งตั้งผู้แทนของตน  เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาของรัฐ  หยวนมีคำสั่งให้ยุบสภาจังหวัดทั้งหมดทั่วประเทศ        เพื่อสนองคำเรียกร้องของนายทหารส่วนภูมิภาค  ดังนั้น รากฐานของประชาธิปไตยที่ได้ปลูกฝังไว้โดยพวกเขาเอง  เมื่อใกล้จะสิ้นยุคการปกครองของพระราชชนนีฉือซีก็ได้ถูกรื้อถอนเสียสิ้น
                                คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  ได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน ๖ สัปดาห์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๑๙๑๔  รัฐธรรมนูญนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่ารัฐธรรมนูญหยวนซื่อไข่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้  หยวนมิได้เป็นจักรพรรดิตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชก็แต่ในนามประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและให้มีเลขาธิการ (กว๋ออู้ชิน = Secretary  of  State) เป็นผู้ช่วยหนึ่งคน  นอกจากนั้นให้จัดตั้งสภาการเมือง (เจิ้งซื่อถัง)  ซึ่งมีเลขาธิการเป็นประธาน  ทั้งเลขาธิการและสมาชิกสภาการเมืองได้รับแต่งตั้งโดยตรง  และรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีโดยตรง  กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๑๐ ปี และในปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี  ถ้าหากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมควรโดยมีเหตุผลทางการเมือง  จะอนุมัติให้ประธานาธิบดีคงดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัยหนึ่งโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งตามพิธีการก็ได้
                                แผนการขั้นต่อไปของหยวนก็คือ  ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิโดยเปิดเผยสืบต่อจากราชวงศ์แมนจู  ความจริงราชวงศ์แมนจูมอบอำนาจให้หยวน  ซึ่งหยวนจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ต้นโดยไมแสดงตัวเป็น             ผู้เลื่อมใสในระบอบสาธารณรัฐ  เขาอาจจะได้รับความสนับสนุนมากกว่า  แต่หยวนได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายก่อการปฏิวัตินำพืชพันธุ์ระบอบประชาธิปไตยไปหว่านเสีย ๓ ปี ประกอบกับประชาชนได้เห็นรอยด่างพร้อยในตัวหยวนมากขึ้น  การคิดก่อตั้งราชวงศ์ใหม่จึงสายเกินไป
                                ข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งราชวงศ์หยวนนั้น ได้แพร่สะพัดมาตั้งแต่ปี ๑๙๑๓ ๑๙๑๔ แล้ว  แต่ความเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยได้กระทำขึ้นในปี ๑๙๑๕ ในกลางปี ๑๙๑๕ พวกขุนนางในราชวงศ์ อดีตเครือญาติคนสนิท ที่ปรึกษา รวมตลอดทั้งที่ปรึกษาที่สำคัญชาวอเมริกันชื่อแฟรงค์ เจ กู๊ดโนว (Frank J. Goodnow)  ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งประธานของมหาวิทยาลับ จอน ฮอปคิ่นส์  ต่างก็ชักชวนส่งเสริมให้หยวนขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหาจักรพรรดิ  นายกู๊ดโนวได้เสนอเอกสารเกี่ยวกับระบอบสาธารณรัฐและระบอบประชาธิปไตย  โดยให้ความเห็นว่า ระบอบสาธารณรัฐไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของจีน  ความเห็นของนายกู๊ดโนวมีอิทธิพลมากจนก่อให้เกิดสมาคมวางแผนเพื่อความสันติ (Peace  Planning  Society) ซึ่งเผยผู้นำก่อการที่สำคัญ ๖ คน               เพื่อสนับสนุนให้หยวนรับตำแหน่งพระมหาจักรพรรดิ  หยวนบอกปัดหลายครั้ง  แต่ในที่สุดยินยอมเพื่อให้ขลังยิ่งขึ้น เขารอให้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีสวีซื่อชังเป็นประธานนั้นทำพิธีถวายสาสน์อัญเชิญให้ครบสามจบ  และนอกจากนั้นจะต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจาก สภาผู้แทนราษฎร เสียก่อน  มหาอำนาจต่าง ๆ มีปฏิกิริยาโต้ตอบแตกต่างกัน  เดิมที อังกฤษ  ฝรั่งเศส  รุสเซีย  และญี่ปุ่น แนะให้หยวนงดการกระทำเช่นนั้น  โดยให้เหตุผลว่า ยังมีสถานการณ์ระหว่างประเทศที่คั่งค้างอีกหลายประการ  การกระทำเช่นนั้นมีส่วนโน้มเอียงที่จะก่อให้เกิดศัตรูขึ้นต่อต้าน  แต่สำหรับ ๓ ประเทศแรกยินดีจะรับรองหยวนในฐานะพระมหาจักรพรรดิ  ถ้าหากว่าหยวนจะประกาศสงครามกับเยอรมัน  ทั้งนี้เพราะคู่สงครามของเยอรมันต้องการความช่วยเหลือจากจีนกำจัดกิจกรรมการค้าของเยอรมันในจีน  แต่ต่อมาความต้องการเช่นนี้ก็หมดความสำคัญไป  เพราะญี่ปุ่นรับทำหน้าที่แทนโดยความสมัครใจ  ท่ามกลางความไม่พอใจของมหาอำนาจอื่น ๆ  รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานต่อหยวนว่า ถ้าหากหวนดำเนินการตามแผนการนั้นแล้วมีเค้าว่าจะเกิดการกบฏขึ้นทางใต้  แต่หยวนสามารถเรียกสภาผู้แทนจากจังหวัดต่าง ๆ และรวบรวมคะแนนเสียงได้ เป็นเอกฉันท์  ๑,๘๓๔ เสียง  สำหรับสนับสนุนระบอบปรมิตตาญาสิทธิราช (Constitutional  Monarchy)  ชื่อเสียงของเขาตามมตินี้ดีกว่าของนโปเลียนมากมาย (การยกฐานะของ   นโปเลียนโดยวิธีการออกเสียงประชามติมี ๒,๕๖๗ เสียงคัดค้าน  ๓,๕๗๒,๓๗๙ เสียงสนับสนุน)  ก่อนที่จะเข้ารับสนอง เจตนารมณ์ของประชาชน  หยวนยอมให้ ประชาชน ส่งสาส์นอัญเชิญซ้ำอีก ๓ ครั้ง  แล้วกำหนดเอาวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๑๙๑๖  เป็นวันขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นทางการ  ถ้าหากการณ์จะได้เป็นไปตามแผนนี้สำเร็จและสถานการณ์ของโลกเข้าข้างรัฐบาลระบอบกษัตริย์  หยวนจะได้รับยกย่องว่าเป็นกษัตริย์องค์แรกของจีน                ที่ได้รับการเลือกตั้งจาก เจตนารมณ์ของประชาชน แทนที่จะเป็น เจตนารมณ์ของสวรรค์ ตามที่เป็นมาในราชวงศ์อดีต
                                ถ้าหากจะตั้งให้ซุนเป็นฝ่ายค้านระบบพระมหากษัตริย์ของหยวน  และเรียกสภาผู้แทนให้ลงคะแนนตามวิธีการของหยวน  ซุนก็อาจรวบรวม เจตนารมณ์ของประชาชน ได้เป็นเสียงเอกฉันท์เช่นเดียวกัน  กำลังต่อต้านการเปลี่ยนระบอบการปกครองได้เป็นอย่างคึกคักไม่แพ้กิจกรรมของสมาคมวางแผนเพื่อความสันติ  พวกนิยมระบอบสาธารณรัฐและพวกนิยมการปฏิรูปที่มีหัวรุนแรง  เห็นว่าความหวังในการก่อตั้งประเทศจีนใหม่ได้ถูกคุกคามแบบแตกสลาย  ในญี่ปุ่น ซุนซึ่งได้ลี้ภัยการเมืองมาเป็นครั้งที่ ๒ นั้น  ได้ก่อตั้งพรรคปฏิวัติสาธารณจีนจุงหัว  เก๊อมิ่งตั่ง  ซึ่งมีสาขาลับอยู่ในผืนแผ่นดินใหญ่จีน  หยวนต้องการสนับสนุนจากเหลียง  แต่ไม่ทราบว่าเหลียงนั้นเองที่เป็นผู้เขียนบทความต่อต้านระบบกษัตริย์แจกจ่ายไปทั่วประเทศ  แม้แต่นายพลทหารประจำส่วนภูมิภาค  ผู้ซึ่งเคยยอมตนเป็นฐานที่ตั้งอำนาจของหยวนก็บังอาจขัดขวางการกระทำของหยวน  เพราะเกรงกิจกรรมอันอิสระของตนจะถูกจำกัด  ความพยายามของหยวนที่จะรวบรวมอำนาจอยู่ในกำมือเสียแต่    ผู้เดียวเท่านั้น  ได้ก่อให้ตวนฉียุ่ย  รัฐมนตรีกระทรวงทหารบก  และแต่เดิมคาดกันว่าจะเป็นทายาทของหยวนนั้นได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลับไปอยู่มณฑลสั่นซี  ก่อนหน้านั้นการจัดตั้งสมาคมวางแผนเพื่อความสันติเล็กน้อย  หยวนขาดความสนับสนุนจากเฝิงกว๋อจัง  ผู้บัญชาการทหารแห่งมณฑลเกียงซูเช่นกัน  พวกนายพลเหล่านี้สำนึกว่าตนต่างหากเป็นผู้กำอำนาจของประเทศที่แท้จริง  เขาสมัครใจที่จะอยู่ภายใต้รัฐบาลสาธารณรัฐ      ที่อ่อนแอมากกว่าจะถูกบังคับให้เป็นนายพลที่ว่าง่ายในราชอาณาจักรใหม่  และในที่สุดหยวนเสียคะแนนสนับสนุนโดยการที่เขายอมรับเอาข้อเรียกร้อง ๒๑ ประการของญี่ปุ่น
                                กำลังเท่านั้นที่สามารถสกัดความทะเยอทะยานของหยวนและพรรคพวกได้  ในเดือนธันวาคม ๑๙๑๕  นายพลไช่โอว แห่งมณพลหยุนหนัน (ยูนนาน) ได้รับการสนับสนุนโดยอดีตลูกพรรคก๊กมินตั๋งและ          เหลียงฉี่เชา  ไช่โอวประกาศตัวต่อต้านรัฐบาล  โดยเรียกร้องให้หยวนยับยั้งแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบปรมิตตาญาสิทธิราช  และให้กลับนำเอารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ตราขึ้นนานกิงมาเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ  และเรียกประชุมรัฐสภาชุดที่เลือกตั้งในปี ๑๙๑๓  นอกจากนั้น  เขายังสั่งจับและลงโทษผู้สนับสนุนแผนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในเขตมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) ไปหมด หยวนส่งกองทัพเข้าปราบปรามและชั่วขณะหนึ่งกำลังฝ่ายหยุนหนันทำท่าทีจะเป็นฝ่ายมีชัย  ไช่โอวถึงแก่ความตายด้วยโรคในมณฑลเสฉวน  หวงซิงผู้ซึ่งกำลังจะรวบรวมกองทัพในมณฑลกวางตุ้ง  ก็ล้มป่วยถึงแก่ความตายเช่นกัน  แต่การประกาศเข้าข้างฝ่ายกบฏของเฝิงกว่อจังทำให้ฝ่ายกบฏอยู่ในฐานะเข้มแข็งในกลางเดือนมีนาคม ๑๙๑๖     ได้เกิดกบฏขึ้นทั่วทุกหัวระแหง
                                เผชิญกับปัญหาศึกกลางเมือง  หยวนตัดสินใจเลื่อนประกอบพิธีราชาภิเษกและสัญญาว่าจะเรียกประชุมสภานิติบัญญัติ  ซึ่งกำหนดไว้ตามบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญหยวนซื่อไข่ โดยด่วน  และเมื่อฝ่ายกบฏเรียกร้องให้หยวนสละอำนาจออกจากวงการเมือง  เขายอมประกาศยกเลิกแผนการเปลี่ยนแปลงระบอบ            การปกครองในวันที่ ๒๒ มีนาคม  เพื่อที่จะปราบศัตรูให้อยู่ในความสงบ  เขาประกาศว่าเขามีเจตนาที่จะมอบอำนาจทางการเมืองให้แก่คณะรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบ  ในเดือนเมษายนเขาขอร้องตวนฉียุ่ยจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแทน  แต่ตวนเห็นว่าฝ่ายใต้ยังคงยืนยันให้หยวนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี  ตวนและ         กลุ่มทหารพากันทอดทิ้งเขา  เฝิงกว๋อจังพยายามจัดตั้งแนวเดินสายกลางโดยเรียกสมัครพรรคพวกประชุมปรึกษาหารือกัน ณ เมืองนานกิง  ภายใต้การควบคุมของตน  เพื่อแสวงหาคะแนนจากจังหวัดต่าง ๆ ตั้งตัวเป็นประธานาธิบดีบ้าง             
                                ในเดือนพฤษภาคม จังหวัดทางภาคกลางและภาคใต้ ๘ จังหวัดประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม  ผู้แทนของจังหวัดตาง ๆ เหล่านี้ได้ร่วมใจกันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นอีกรัฐบาลหนึ่งที่เมืองกวางตุ้ง      โดยเลือกหลี่หูงจังเป็นประธานาธิบดี  แต่หลี่ปฏิเสธ  อีกไม่นานต่อมาหยวนยินยอมสละตำแหน่งประธานาธิบดีโดยแนะนำหลี่เป็นผู้สืบตำแหน่งของเขา  ในขณะที่การเจรจากำลังจะถึงซึ่งความสำเร็จอยู่นั้น  การขัดแย้งก็ได้ยุติไปด้วยการตายของหยวนด้วยเหตุโลหิตเป็นพิษในเดือนมิถุนายน ๑๙๑๖


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น