วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สัมพันธมิตรระหว่างชาตินิยมกับคอมมิวนิสต์

เมื่อครั้งซุนยัดเซ็นหนีเฉินชุ่งหมิงไปยังเซี่ยงไฮ้ ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๑๙๒๒ นั้น เป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกับ อด๊อฟ จอฟเฟ ถูกส่งตัวจากมอสโกให้มาเจรจาปัญหาการเมืองกับรัฐบาลปักกิ่ง ในเดือนสิงหาคม ๑๙๒๒ จอฟเฟได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากปัญญาชน และเขาประสบความสำเร็จในการเข้าพบปะซุนในเซี่ยงไฮ

จอฟเฟ ได้ดำเนินงานต่อจากมาริงและดาลิน ในการเจรจากับซุนเกี่ยวกับปัญหาการร่วมมือระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์ และก๊กมินตั๋ง ตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้โดยองค์การคอมมิวนิสต์สากล พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๑๙๒๒ นั้นได้มีความเห็นแตกแยกกันมาเป็นเวลานาน เกี่ยวกับปัญหาว่าจะเข้าร่วมเป็นสัมพันธมิตรกับก๊กมินตั๋งหรือไม่ ด้วยการแนะนำของคอมมิวนิสต์รุสเซีย หลี่ต้าเจาได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมพรรคได้มีมติให้สมาชิกของตนมีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกของก๊กมินตั๋งได้อีกตำแหน่งหนึ่ง สำหรับซุนภายหลังการพ่ายแพ้จากเมืองกวางตุ้งแล้ว ให้มีความกระหายอยากไดความช่วยเหลือจากรุสเซียยิ่งขึ้น จึงยอมรัยข้อเสนอของผู้แทนคอมมิวนิสต์รุสเซีย ยินยอมให้จีนคอมมิวนิสต์เข้าเป็นสมาชิกของพรรคก๊กมินตั๋งเป็นรายบุคคลได้ แต่เขาจะไม่ยินยอมให้คอมมิวนิสต์เข้ไปตั้งเซลล์ของพรรคต่างหากในพรรค

สัมพันธมิตรระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งนั้น เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นทั้งสองฝ่าย พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เคยคิดที่จะละทิ้งหลักการที่ว่าตนจะต้องรักษาความเป็นผู้นำในขบวนการกรรมกรและสิทธิในการให้การศึกษา และการจัดระเบียบมวลชนในแนวของน้ำใจแห่การปฏิวัติ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ นั่นคือ คอมมิวนิสต์จะต้องจัดระเบียบการปกครองประเทศในที่สุด ส่วนซุนนั้นคงถือว่าการร่วมสัมพันธมิตรนั้นอยู่ในขอบเขตจำกัด ดังคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างซุนกับจอฟเฟ ในเดือนมกราคม ๑๙๒๓ นั้น ทั้ง ๒ ฝ่ายยอมรับว่า ซุนไม่มีความนิยมที่จะรับเอาลิทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาปฏิบัติในประเทศจีนเนื่องจากสถานการณ์ไม่เหมาะสม จอฟเฟยอมรับว่าประเทศจีนต้องการความสามัคคีและเอกราช และนั่นเองรุสเซียพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือการปฏิวัติของประเทศจีนให้บรรลุผลดังกล่าว ตามจดหมายที่ซุนเขียนถึงเจียงไคเช็คในขณะนั้นซุนกล่าวว่าเขาต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นแหล่งใด แต่มหาอำนาจแห่งตะวันตกไม่ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ

ภายใต้พื้นฐานสัมพันธมิตรอันจำเป็นเช่นนี้ ความช่วยเหลือของรุสเซียก็เริ่มหลั่งไหลเข้าไปยังเมืองกวางตุ้ง โดยผ่านตัวแทนคอมมิวนิสต์รุสเซียซึ่งมีหัวหน้าที่สำคัญคือ ไมเคิลโบโรดิน โบโรดินผู้เชี่ยวชาญพิเศษของคอมมิวนิสต์รัสเซีย ได้มาถึงเมืองกวางตุ้งในเดือนกันยายน ๑๙๒๓
งานสำคัญชิ้นแรกของ โบโรดิน คือการจัดระเบียบพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งมีลักษณะเป็นแต่เพียงสมาคมของคนกลุ่มหนึ่ง ที่จงรักภักดีต่อซุนนั้นให้เป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะตามพรรคการเมืองเพื่อการปฏิวัติและตามแนวระบบพรรคคอมมิวนิสต์รุสเซีย โบโรดิน ช่วยก๊กมินตั๋งจัดตั้งสถาบันการเมืองสำหรับฝึกนักประชาสัมพันธ์และสอนนักการเมืองพรรคก๊กมินตั๋งเกี่ยวกับวิธีการแสวงหาความสนับสนุนจากมวลชนตามแบบฉบับของพรรคคอมมิวนิสต์รุสเซีย ก๊กมินตั๋งได้จัดตั้งเซลล์ของพรรคในส่วนท้องถิ่น ซึ่งพวกนี้แหละจะเป็นผู้เลือกตัวแทนขึ้นไปเป็นผู้แทนของพรรคแห่งชาติ การประชุมใหญ่ของพรรคได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม ๑๙๒๔ ที่ประชุมได้เลือกคณะกรรมการกลางและเจ้าหน้าที่สำคัญ ๆ ของพรรคนอกจากนั้น ที่ประชุมใหญ่ยังได้รับรองร่างรัฐธรรมนูญของพรรค ซึ่งร่างขึ้นมาจากมันสมองของโบโรดิน

ความช่วยเหลือในด้านการทหารของรุสเซียถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าการจัดระเบียบพรรคก๊กมินตั๋ง คอมมิวนิสต์รุสเซียได้จัดส่งนายพลกาเลน ผู้เชี่ยวชาญในการฝึกทหารของสหภาพโซเวียตมายังเมืองกวางตุ้ง ในเดือนตุลาคม ๑๙๒๓ และภายในระยะเวลา ๖ เดือน หลังจากนั้นปรากฏว่าพรรคก๊กมินตั๋งที่ปรึกษาการทหารจากพรรคคอมมิวนิสต์รุสเซียประมาณ ๓๐ คน ในขณะเดียวกันอาวุธของสหภาพโซเวียตได้ถูกลักลอบขนส่งเข้ามายังเมืองกวางตุ้ง ศูนย์กลางของกิจกรรมทางทหารได้แก่โรงเรียนนายทหารหวงผู่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ๑๙๒๔ โดยความช่วยเหลือของรุสเซียตามแบบฉบับของโรงเรียนนายทหารแดงของรุสเซีย เจียงไคเช็คผู้ซึ่งถูกส่งไปดูงานการจัดระบบการทหารของกองทัพแดงในสหภาพโซเวียตเมื่อกลางปี ๑๙๒๓ นั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายทหารแห่งนี้ เลี่ยวจุ้งไข่ผู้ซึ่งมีประวัติการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคอมมิวนิสต์รุสเซียเป็นตัวแทนของพรรค นอกจากนั้นยังมีที่ปรึกษาชาวรุสเซียอันมี โบโรดินและกาเลนเป็นหัวหน้า โรงเรียนนายทหารแห่งนี้ มีความจงรักภักดีต่อเจียงไคเช็ค ในทำนองเดียวกับนายทหารที่ได้รับการอบรมจากเป่ยหยางในสมัย ๑๐ ปีก่อนหน้านั้น ที่มีความจงรักภักดีต่อหยวนซื่อไข่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น