วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฏิวัติ สิบ ตุลาคม

                                นับตั้งแต่ซุนเริ่มก่อการปฏิวัติเป็นต้นมา  กบฏได้เกิดขึ้นชุกชุมในตอนใต้     ของประเทศจีน  เมื่อจักรพรรดิกวางซวี่และพระราชชนนีฉือซีสวรรคตแล้ว  ผู้สืบราชสมบัติต่อ ณ เมืองปักกิ่งย่อมสะดุ้งสะเทือนต่อสถานการณ์อันล่อแหลมเช่นนั้น  รัฐบาลส่วนภูมิภาคได้รับคำสั่งให้รักษาความสงบอย่างกวดขัน  แต่ชะตาของราชวงศ์แมนจูจะถึงซึ่งความหายนะ  การป้องกันไม่ได้ผล  เฉพาะปี ๑๙๐๘ ๑๐ ตุลาคม ๑๙๑๑ ปรากฏว่ามีกบฏที่สำคัญเกิดขึ้น ๔ ครั้ง  คือ  กบฏอันจิงในมณฑลอันฮุยในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๐๘       การจลาจลในกองทหาร    เมืองกวางตุ้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๑๐  การพยายามปลงพระชนม์ผู้สำเร็จราชการไจ้เฟิงไดย วางจิงวุ้ย ในเดือนมีนาคม ๑๙๑๐  และในที่สุดการกบฏอันเศร้าสลด ณ เมืองกวางตุ้งในวันที่          ๒๗ เมษายน ๑๙๑๑  นำโดยหวงซิง ในคราวนี้ฝ่ายกบฏได้รับความเสียหายอย่างหนักเสียสมาชิกชั้นหัวกะทิถึง ๗๒ คน  แม้ว่าการล้มเหลวครั้งนี้จะใหญ่หลวง  แต่วิญญาณของ ๗๒ วีรชนได้เข้าสิงจิตใจประชาชนชาวจีน        ให้ตื่นขึ้นมาเลือกเดินทางตามซุนยัดเซ็น  ดีกว่าที่จะยังหลงงมงายต่อความหวังที่จะได้รัฐบาลโดยมี                  พระมหาจักรพรรดิอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ  นับว่าเป็นการถางทางให้การปฏิวัติครั้งต่อไป
                                การฟื้นตัวอันรวดเร็วจากการปราชัยในการกบฏ วันที่ ๒๗ เมษายน ของคณะก่อการปฏิวัตินั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการโอนกิจกรรมการเดินรถไฟเป็นของชาติ  ในเขตมณฑลเสฉวน (ซื่อชวน) และ    หูเป่ย  นักธุรกิจจีนที่มั่งคั่งในแถบนี้ได้ลงทุนเป็นจำนวนมากในกิจการเดินรถไฟสายเสฉวน ฮั่นโข่ว  กวางโจว ฮั่นโข่ว  ในขณะนั้นรัฐบาลต้องการเงินกู้จากภาคีธนาคาร (consortium) ที่สหรัฐ  อังกฤษ  ฝรั่งเศส และเยอมันถือหุ้น  เนื่องจากภาคีธนาคารนี้มีนโยบายที่จะกีดกันการรุกรานทางเศรษฐกิจของรุสเซียและญี่ปุ่น  ปักกิ่งจึงต่อรองด้วยการจะโอนกิจกรรมรถไฟดังกล่าวไปเป็นของชาติ  เพื่อเป็นการป้องกันการขยายกิจการรถไฟโดยบริษัทเอกชนให้แก่บริษัทญี่ปุ่น  คำสั่งโอนกิจกรรมการรถไฟดังกล่าวไปเป็นของชาติได้ออกประกาศในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม  ๑๙๑๑  ประชาชนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง  เสฉวน  หูเป่ย  และหูหนัน  ได้ก่อตั้งสมาคมต่อต้านคำสั่งของรัฐบาล  การปะทรวงได้แสดงออกทั้งในรูปสงบ  เช่น  การส่งคำร้องเรียนไปยังรัฐบาลปักกิ่ง  และในรูปเลือดร้อน  เช่น  การเดินขบวน  แต่ไม่ได้ผลเพราะรัฐบาลใช้กำลัง          เข้าปราบปราม
                                การประท้วงคำสั่งการโอนกิจกรรมรถไฟเป็นของชาติ  ได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขันเพราะ      ผู้มีหุ้นอยู่ในการเดินรถล้วนแต่เป็นผู้มั่งคั่งและทรงอิทธิพล นอกจากนั้นย่อมเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นการยุยงส่งเสริมของคณะก่อการปฏิวัติ  เพราะพวกนี้สงสัยเจตนาของเจ้าหนี้  คือภาคีธนาคารไม่น้อยกว่าที่เจ้าของภาคีธนาคารระแวงการแทรกแซงเศรษฐกิจของจีนโดยญี่ปุ่นและรุสเซีย  การร่วมงานกันครั้งนี้ระหว่างคณะก่อการปฏิวัติกับบรรดาพ่อค้า  นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของคณะก่อการปฏิวัติ  ในขณะเดียวกันคณะนิยมการปฏิรูป       ที่พยายามเอาใจนักธุรกิจด้วยการใช้วิธีอ่อนโยน  โดยการเสนอคำร้องเรียนนั้นก็ย่อมได้รับความผิดหวัง  อาศัยเหตุการณ์เฉพาะหน้าเหล่านี้  ฤกษ์ยามก่อการปฏิวัติของคณะก่อการปฏิวัติจึงได้มาตรงกับวันที่สิบ เดือนสิบ
                                คณะปฏิวัติได้เลือกเอาเมืองอู่ชัง  อันเป็นที่ตั้งอำเภอเมืองของจังหวัดหูเป่ยเป็นสถานที่ก่อการปฏิวัติ  ประชาชนในเขตนี้มีความแค้นเคืองรัฐบาลในวิกฤติการณ์การโอนกิจกรรมรถไฟมาก  การปฏิวัติได้รับความสำเร็จอย่างบังเอิญ  โดยที่ข้าหลวงตรวจการและผู้บัญชาการทหารขาดความเข้มแข็ง  หนีออกจากเมืองก่อนที่จะประมาณกำลังของข้าศึก  หลังจากยึดได้เมืองอู่ชังแล้ว  เมืองฮั่นหยางและฮั่นโข่วก็ตกมาอยู่ภายใต้      การยึดครองของคณะก่อการปฏิวัติอย่างรวดเร็ว  คณะก่อการปฏิวัติมอบอำนาจการบังคับบัญชาการทหารให้แก่นายพลจัตวาหลี่หยวนหูง  ผู้ซึ่งถูกสงสัยว่าคงรู้เห็นเป็นใจด้วยกันกับคณะก่อการปฏิวัติ  การปฏิวัติได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว  การแทรกแซงของคณะก่อการปฏิวัติเข้าไปในกลุ่มทหารช่วยให้การดำเนินงานเป็นผลสำเร็จ   เร็วยิ่งขึ้น  จนกระทั่งปลายปี ๑๙๑๑  ปรากฏว่าดินแดนตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกือบทุกจังหวัด  รวมตลอดถึงดินแดนตอนเหนือแม่น้ำแยงซีบางจังหวัด เช่น สั่นซี และ ซันซี ได้ร่วมกับคณะก่อการปฏิวัติทำการกบฏ  เหตุผลที่สำคัญของความสำเร็จอย่างรวดเร็วของคณะก่อการปฏิวัตินี้  ขึ้นอยู่กับความเอาใจออกห่างจากราชวงศ์แมนจูของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในส่วนภูมิภาคเป็นสำคัญ
                                                สำนักราชวงศ์แมนจูมีความตะลึงต่อสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกของการกบฏ  ครั้นมีผู้บัญชาการทหารหลายคนของกองทัพที่จัดตั้งขึ้นตามแผนใหม่ส่งโทรเลขมาจากเมืองหลวนโจว  ซึ่งเป็นเมืองห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร  เรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว สำนักราชวงศ์ต้องรีบปฏิบัติตามทันที  เนื่องจากในขณะนี้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายแมนจูขาดความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะรักษาสถานการณ์ได้ด้วยตัวเองแล้ว  ทางออกที่พวกเขาพยายามหาก็คือจะทำอย่างไรที่จะต่ออายุของราชวงศ์ได้เท่านั้น มองเห็นแต่หยวนซื่อไข่อดีตผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการในเขตนครหลวงปักกิ่งและเป็นผู้สถาปนากองทัพแผนใหม่  ซึ่งขณะนั้นถูกปลดออกไปจากราชการแล้วนั้น  คงจะเป็นผู้รักษาสถานการณ์ไว้ได้  หยวนซึ่งหาโอกาสเช่นนั้น   มานานแล้ว  แสดงท่วงทีบ่ายเบี่ยงและทำการต่อรองตามพิธีก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  โดยได้รับการเลือกจากสภานิติบัญญัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้  ซึ่งมี ๑๙ มาตราด้วยกัน  หยวนจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีเป็นคนจีนที่มีความจงรักภักดีต่อคนทั้งหมด  ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน  นอกจากนั้นเขายังมีอิทธิพลพอที่จะควบคุมกองทัพแผนใหม่ได้อย่างเด็ดขาด  สิ่งที่ราชวงศ์แมนจูยังเป็นห่วงอยู่อย่างเดียว คือการต่ออายุของราชวงศ์สืบไป
                                นับว่าเป็นเคราะห์ร้ายของราชวงศ์แมนจูที่เอาชะตามกรรมมาฝากไว้กับหยวน  ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์เป็นรองของความทะเยอทะยานส่วนตัว  จากนั้นไปจึงเป็นการใช้อำนาจส่วนตัวของหยวนในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ กับคณะก่อการปฏิวัติ
                                ผู้ก่อการปฏิวัติได้ปรึกษาหารือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนผู้นำ        ทางทหารที่ก่อการกบฏและหน่วยอิสระอื่นที่มีความเลื่อมใสในอุดมการณ์ก่อการปฏิวัติ  ได้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมกันที่เซี่ยงไฮ้  ต่อมาในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน  ย้ายไปที่ฮั่นโข่ว  การจัดตั้งรัฐบาลโดยหยวนซื่อไข่มีผลกระทบกระเทือนถึงความสามัคคีของกลุ่มก่อการปฏิวัติเป็นอันมาก  เสียงส่วนมากของที่ประชุมหันกลับไปมองหยวนในแง่ดี  และได้ผ่านมติว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะยกให้แก่หยวน  ถ้าหากเขาตัดความจงรักภักดีออกจากราชวงศ์แมนจูและสนับสนุนรัฐบาลตามระบบสาธารณรัฐ  นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีความเห็นแตกแยกกัน      ในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด  แต่ในที่สุดได้ตัดสินให้หลีหยวนดำรงตำแหน่งและให้หวงซิงเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ในวันที่ ๒ ธันวาคม  ที่ประชุมได้ตกลงประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งมี ๒๑ มาตราเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  ในระหว่างนี้ซุนกำลังเดินทางอยู่ในต่างประเทศ     (วันปฏิวัตินั้นเขาอยู่ในสหรัฐฯ)  เขาได้เดินทางกลับมาถึงเซี่ยงไฮ้ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม  ในวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน  เขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว  โดยผู้แทนของ ๑๖ จังหวัดในจำนวน         ๑๗ จังหวัด  ซุนได้ปฏิญาณตนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีนในวันที่ ๑ มกราคม ๑๙๑๒           ณ เมืองนานกิง  เขาได้จัดตั้งรัฐบาลตามระบอบประธานาธิบดีของสหรัฐฯ  โดยมีหลี่หูงจังเป็นรองประธานาธิบดี  รัฐบาลชุดนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการปกครองระบบทหารซึ่งมีระยะ ๓ ปี ตามแผนการเดิมของซุนที่ได้วางไว้แล้วตั้งแต่ปี ๑๙๐๕


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น