วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ลัทธิจักรวรรดินิยมที่ขยายเข้าไปในประเทศจีน

              การเผยแพร่ศาสนา  จุดประสงค์เบ้องหลังของพวกหมอสอนศาสนาและพ่อค้าชาวตะวันตก       ที่เข้าไปในประเทศจีนนั้น  ในเบื้องแรกมิได้อยู่ที่การเผยแพร่ลัทธิการเมืองแต่ประการใด  แต่มุ่งอยู่ที่การค้า       เป็นสำคัญ  ด้วยเหตุที่การเจริญเติบโตในด้านอุตสาหกรรมทางด้านตะวันตกประจวบกับราชวงศ์แมนจูกำลัง     ก้าวไปสู่ความเสื่อมโทรม  ด้วยมีการทุจริตในวงการราชการและการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด  ดังนั้นการค้า       จึงเป็นสื่อการหลั่งไหลของความคิดในทางการเมือง
                                ชาวจีนเริ่มมีการติดต่อกับหมอสอนศาสนาชาวตะวันตก  ตั้งแต่ปี ๑๕๘๒  พวกมิชชันนารี       ชุดแรก ๆ นั้น มีความสามารถเข้าไปถึงภายในพระราชสำนักได้ในปลายสมัยราชวงศ์หมิง  และพวกนี้ได้มีส่วนในการนำวิทยาการสมัยใหม่เข้าไปเผยแพร่ในประเทศจีนหลายประการ  ที่สำคัญได้แก่  วิชาดาราศาสตร์  คณิตศาสตร์  ภูมิศาสตร์  วิชาว่าด้วยกายวิภาค  และที่สำคัญคือวิชาการทำปฏิทิน  ชาวจีนเป็นจำนวนมากกลายเป็นสานุศิษย์ของพวกมิชชันนารีไป  แต่ก็อยู่นอกขอบเขตแหล่งลัทธิการเมือง  การที่การเมืองตะวันตกมิได้ดึงดูดความสนใจของเหล่าสาวกของหมอสอนศาสนาคริสต์นั้น  ก็โดยที่ประเทศตะวันตกในสมัยศตวรรษที่       ๑๗ ๑๘ ยังเป็นประเทศที่ยากจนและอ่อนแอ  และการแสวงหาเมืองขึ้นก่อให้เกิดการบาดหมางซึ่งกันและกันอันเป็นการตัดกำลังกันอยู่เนือง ๆ
                                กิจกรรมการค้า  คู่เคียงไปกับการเผยแพร่ศาสนา  เมืองชายฝั่งของจีนทางภาคใต้ได้เริ่ม            แปรสภาพเป็นแหล่งการค้าระหว่างประเทศ  เมืองกวางตุ้งได้กลายเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างจีนกับประเทศตะวันตก  ในกลางศตวรรษที่ ๑๘ กิจกรรมการค้าของอังกฤษในนามของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British  East  India  Co.) เป็นผู้นำในการแสดงบทบาทเกี่ยวกับการค้าระหว่างจีนกับชาวตะวันตก  จักรวรรดิโปรตุเกสเริ่มเสื่อมโทรมและการค้าของพ่อค้าชาวโปรตุเกสได้รวมอยู่ที่หมาเก๊า  พ่อค้าฝรั่งเศสในวงจำกัดด้วยรัฐบาลของตนต้องพ่ายแพ้ต่อรัฐบาลอังกฤษในการสงครามล่าเมืองขึ้น ๗ ปี  ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญาปารีสปี ๑๗๖๓ (Peace  of  Paris, 1763)  ศูนย์กลางของดัทช์อยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันนอก  รุสเซียก็มีสนธิสัญญาการค้าทางชายแดนกันในวงจำกัดอยู่แล้ว  เหลือแต่ชาวอเมริกันที่เกือบจะเป็นคู่แข่งขันกับ            ชาวอังกฤษได้  ภายหลังปี ๑๗๕๐ การค้าระหว่างประเทศจีนส่วนใหญ่ได้ดำเนินไปกับชาวอังกฤษ
                                การค้าในเขตเมืองท่าของจีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๑๘ เป็นไปตามระบบที่เรียกว่า โคหอง (Cohong) คือ สมาคมพ่อค้าเป็นผู้บริหารงานแทนรัฐบาล  โดยรับผิดชอบต่อรัฐบาลในการรักษาความปลอดภัยของพ่อค้าต่างด้าว  เป็นผู้กำหนดราคาสินค้า  และเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างรัฐบาลกับชาวต่างด้าว         การเก็บภาษีสินค้าขาเข้าและขาออกอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการของโคหอง ที่เรียกกันว่า ฮอปโปะ (Hoppo)      พ่อค้าต่าวด้าวไม่พอใจในการผูกขาดของโคหอง  แต่ก็อดทนเพราะยังมีผลกำไรมาก 
                                การค้าได้ดำเนินไปเช่นนี้เป็นเวลานานด้วยดุลการค้าได้เปรียบตกอยู่แก่ชาวจีน  การค้าได้ดำเนินไปอย่างคึกคัก  และชาวต่างชาติได้แสดงความกระตือรือร้นจนทำให้จีนเชื่อว่า  ชาวยุโรปและอเมริกันดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการอาศัยการค้ากับจีน  สมมติฐานข้อนี้ได้เพิ่มความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของประเทศของตน  ชาวจีนถือว่า การปิดการค้าแม้จะมีผลให้ประเทศขาดรายได้  แต่ก็มีผลทำลายสุขภาพของชาวตะวันตกเช่นเดียวกัน  รัฐบาลถือว่าการที่จีนเปิดเมืองค้าขายกับต่างประเทศเป็นไปในทำนองให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และให้อภิสิทธิ์แก่ชาวต่างชาติมิได้เป็นสิทธิในการสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมดา  และการข่มขู่ชาวต่างชาติด้วยการจะเปิดเมืองท่า นับว่าเป็นอาวุธอันสำคัญในการควบคุมพ่อค้าชาวต่างประเทศ
                                ในปลายศตวรรษที่ ๑๘  ดุลการค้าได้เปรียบได้เริ่มเปลี่ยนทิศมาอยู่กับพ่อค้าต่างด้าว  ฝิ่นได้ถูกนำเข้าไปในประเทศจีนเพื่อประโยชน์ในการปรุงยารักษาโรค  ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.๖๑๘ ๙๐๗) แต่ในศตวรรษที่ ๑๗ ชาวจีนได้เริ่มสูบฝิ่นกันมากขึ้นจนเป็นของธรรมดา  การค้าฝิ่นได้เริ่มจากเขตแหลมหมาเก๊าแล้วขยายไปอาณาบริเวณเมืองกวางตุ้ง  อังกฤษผูกขาดฝิ่นจากอินเดีย  อเมริกาและฝรั่งเศสขนฝิ่นจากตุรกีและเปอร์เซีย  ชาวจีนติดฝิ่นเป็นอันมาก  การค้าฝิ่นก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นตามลำดับ  จนกระทั่งในปี ๑๘๐๐ ฝิ่นเข้าประเทศจีนเป็นจำนวนประมาณปีละ ๔,๐๐๐ หีบ (๑ หีบ หนัก ๑๓๓ ปอนด์)
                                ลอนดอนกับปักกิ่ง  เมื่อการค้าได้ขยายตัวเร็วเช่นนี้  รัฐบาลต่างประเทศต่างก็ปรารถนาจะทำการค้าโดยตรงกับประชาชนโดยเสรีโดยไม่อยู่ในความควบคุมขูดรีดของโคหอง อีกต่อไป  อังกฤษเป็นชาติแรก    ที่ได้พยายามจะทำสัญญาการค้าเป็นทางการกับรัฐบาลจีน  ซึ่งในปี ๑๗๘๗ อังกฤษได้แต่งตั้ง พันโท ชาร์ลส์  คัทคาร์ต (Lt. Colonel  Charles  Cathcart) เป็นทูตพิเศษเพื่อเจรจาทำสัญญาการค้ากับจีน  แต่คัทคาร์ตได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนในปี ๑๗๙๓  อังกฤษจึงได้แต่งตั้งลอร์ด ยอร์จ มาคาทนี (Lord  George  Macartney)  เป็นทูตพิเศษเข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลุง  แม้ว่ามาคาทนีจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้า  โดยไม่ต้องทำพิธีคำนับตามประเพณีจีน  แต่ก็หาทำให้เกิดผลดันใดตามข้อเรียกร้องขออังกฤษไม่  ในปี ๑๘๑๖  อังกฤษได้ใช้ความพยายามอีกครั้งหนึ่ง  โดยการส่ง ลอร์ด แอมเฮิสต์ (Lord Amherst) ไป  แต่ก็ไร้ผลเช่นเดียวกับ ลอร์ด มาคาทนี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น