วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การเติบโตของจีนและผลกระเทือนต่ออาเซียนและต่อไทย

              การมองว่าการ เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนจะเป็นผลดีต่ออาเซียน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกเป็นการมองตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่อย่างง่าย ๆ มากไปหน่อย        เราต้องพิจารณาให้ดีว่า จะเป็นผลบวกและผลลบอย่างไร  และที่ว่าเป็นประโยชน์นั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก,ผู้สั่งเข้า, ผู้ร่วมลงทุน หรือต่อประชาชนทั่วไป  จีนองก็จะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ คนที่ได้รับผลลบคือภาคเกษตร  ที่ล้าหลังยากจนและเคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล  จะแข่งขันสินค้าเกษตรจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนา  เช่น  สหรัฐไม่ได้, พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งขณะนี้มีถึง 70% ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมจะถูกเลิกจ้างเพราะการยุบเลิก, การแปรรูปปรับโครงสร้างใหม่  จีนเองก็คงรู้ว่าทีผลลบด้วย  มากขึ้น ฯลฯ แต่จีนต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทันสมัยจึงยอมเปิดรับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วเคยเป็นศัตรูทางอุดมการณ์
              การมองว่า  ถ้าจีนกับอาเซียน  หรืออาจจะรวม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (อาเซียน + 3) รวมกันเป็นเขตการค้าเสรี จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่มหึมาในแง่ประชากร และผลิตภัณฑ์มวลรวมนั้น  เป็นการมองแบบคิดเอาในเชิงสถิติเท่านั้น  ความจริงก็คือ จีนกับอาเซียนผลิตสินค้าหลายอย่างใกล้เคียงกัน จึงเป็นคู่แข่งกันโดยปริยาย  ปัจจุบันจีนกับอาเซียนมีการลงทุนและค้าขายกันน้อย เมื่อเทียบกับที่ทั้งจีนและอาเซียน มีการลงทุนและค้าขายกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม 3 กลุ่มใหญ่  คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป  เป็นด้านหลัก หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งในอนาคตมีแนว โน้มที่จีนกับอาเซียนจะลงทุนและค้าขายระหว่างกันมากขึ้น  แต่การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก หมายถึง จีนจะเปิดรับการลงทุน และการค้ากับประเทศทั่วโลกอาเซียนไม่ได้มีความ หมายอะไรเป็นพิเศษนอกจากในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง  ว่าอยู่เป็นเพื่อนบ้านกัน  มีวัฒนธรรมแบบเอเชียด้วยกัน  น่าจะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือความร่วมมือในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นกว่า ประเทศที่อยู่ห่างไกล  หรือต่างวัฒนธรรมออกไปหน่อย ยกตัวอย่าง เรื่องการค้าระหว่างจีนกับไทย ถ้ามองในแง่ไทย ในราวปี ค.ศ. 1999  จีนเป็นคู่ค้าระหว่างประเทศอันดับ 4-5 แต่มูลค่าการค้าจริง ๆ ซึ่งอยู่ราว 1.6 แสนล้านบาท จะต่ำกว่าการค้าของไทยกับญี่ปุ่น สหรัฐ ซึ่งอยู่ระดับ 7.7 แสนล้านบาทพอ ๆ กัน หรือยุโรปทั้งกลุ่มมาก ถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็จะอยู่ราว 4% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย ถ้ามองในแง่จีน  ไทยเป็นคู่ค้าที่เล็กมากของจีนอาจจะอยู่อันดับเกือบยี่สิบ และมีสัดส่วนไม่เกิน 1% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน  สถิติการค้าระหว่างไทยกับจีน  ยังมีข้อมูลที่แตกต่างกัน  สถิติทางฝ่ายไทย ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้จีน แต่สถิติฝ่ายจีนอ้างว่าตั้งแต่หลัง ปี ค.ศ. 1996  ไทยขายของให้จีนได้มากกว่าที่สั่งเข้าเล็กน้อย  สถิติของไทย คือ ปี  ค.ศ. 1999  ไทยขาดดุลการค้าจีน         24,024  ล้านบาท  แต่ไทยเกินดุลการค้าฮ่องกง  86,068  ล้านบาท
              การที่จีนเข้า เป็นสมาชิกองค์การค้าโลก ซึ่งจะทำให้จีนเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน เช่น ลดภาษีมากขึ้น จะมีผลต่อไทยทั้งในแง่บวกและลบ สินค้าที่ไทยมีโอกาสขายให้จีนได้มากขึ้น  ข้าว  ยางพารา กุ้งสดแช่แข็ง สินค้าเกษตรแปรรูป น้ำตาล  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  เส้นด้ายและผ้าผืน ผลไม้ แต่สินค้าที่ไทยและอาเซียนจะถูกจีนแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีกำลังซื้อ คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์  พลาสติก เพราะจีนซึ่งมีค่าแรงงานต่ำกว่า  ผลิตได้ถูกกว่า  ไทยต้องเร่งรัดปรับตัวพัฒนาสินค้าออกที่มีคุณภาพมากขึ้น และต้องเจาะหาตลาดใหม่ ๆ นอกจากกลุ่ม 3 ยักษ์ใหญ่ ในแง่การลง ทุน  ระหว่างจีนกับไทย  ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โอกาสที่ไทยจะไปลงทุนในจีน เป็นโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น  เพราะมีการแข่งขันสูง  ส่วนการลงทุนของจีนในไทย ก็มุ่งมาใช้ทรัพยากร เช่น ปลูกป่ายูคาลิปตัส หรือขายบริการ เช่น  รับเหมา     ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ 
                การลงทุนระหว่างสองประเทศยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนมากกว่าแก่ประชาชนใน ประเทศทั้งสอง ที่นอกจากได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจน้อยกว่านายทุนแล้ว       ยังเสียประโยชน์ในแง่การทำลายสภาวะแวดล้อมของทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นไทยและอาเซียน จะได้ประโยชน์จากจีนมากขึ้น  หากการเจรจากันโดยตรงแบบทวิภาคและแบบภูมิภาค  มีข้อตกลงที่พิเศษกว่าข้อตกลงทั่วไปในเวทีองค์การค้าโลก ซึ่งเป็นเวทีที่ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมักจะได้ประโยชน์มากกว่าประเทศกำลัง พัฒนา ความจริงถ้าอาเซียน  จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย  ร่วมมือกันได้จริง คือประเทศรวยกว่าใหญ่กว่ายอมผ่อนปรนช่วยเหลือประเทศที่จนกว่าเล็กกว่า  ภูมิภาคนี้จะเติบโตและเข้มแข็งได้มาก แต่ทุกวันนี้พวกเขาล้วนมองไปที่สหรัฐและยุโรป ซึ่งมีความมั่งคั่งและกำลังซื้อ  และต่างคนก็ต่างทำเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นยักษ์ที่คิดแต่ผลประโยชน์ตัวเองมากเกินไปจนเศรษฐกิจของตนเองถดถอยจน ขยับไม่ได้ การลงทุนและ การค้ากับจีนรวมทั้งการท่องเที่ยวมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ถ้ามีการร่วมมือกันพัฒนาด้านการคมนาคมผ่านอินโดจีน  และพม่าไปจีน  ให้ครอบคลุมสะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะจะทำให้การขนส่งสินค้าลดต้นทุน  และจีนทางภาคใต้ก็มีประชากรมาก และเศรษฐกิจเติบโต แต่การเติบโตแบบนี้ก็ให้ผลประโยชน์แก่คนบางกลุ่มมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่  และการเปิดประเทศกว้างขึ้น ก็สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย เช่น  มีปัญหาแรงงานเถื่อน โสเภณี  อาชญากรทางเศรษฐกิจ  ยาเสพย์ติด  โรคเอดส์  ฯลฯ เพิ่มขึ้น
                ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองเรื่องการคบกับจีนในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจล้วน ๆ หากต้องมองในแง่ผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมด้วย  จีน ไทย อาเซียน ควรจะร่วมมือกันในแง่สังคม การศึกษา  การวิจัย  วิชาการด้านต่าง ๆ วัฒนธรรม  และสิ่งแวดล้อมด้วย  จึงทำให้ภูมิภาคเอเชียนี้เจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กันและอย่างยั่งยืน  ไม่ใช่คิดแต่ในแง่การค้า     การลงทุนในกรอบคิดการพัฒนาเพื่อหากำไรเอกชนของระบบทุนนิยมโลก ซึ่งสร้างปัญหา   ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน การทำลายสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมอื่นตามมามากมาย  เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น