วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การเจรจายุติสงครามกลางเมือง

                                เมื่อมีรัฐบาลเหนือตั้งอยู่ที่ปักกิ่งและรัฐบาลได้ตั้งอยู่ที่นานกิง  ปัญหาต่อไปของจีนในขณะนั้นก็คือ  ทำอย่างไรจึงจะรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้  ทางเลือกมีอยู่ ๒ ทาง คือ สงครามกลางเมืองกับการเจรจารวมกันโดยสันติวิธี  วิธีแรกผู้นำของทั้ง ๒ ฝ่ายตระหนักดีว่าไม่เป็นที่ปรารถนาของประชาชน  ยิ่งกว่านั้นทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็ไม่มีความมั่นใจในผลแห่งสงครามกลางเมือง  ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ๑๙๑๑  ดินแดนที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลปักกิ่งเหลือแต่เพียงเขตนครหลวง  มณฑลซันตุง       เหอหนันและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก ๓ มณฑลเท่านั้น  อำาจทั้งหมดทางเหนือตกอยู่ในกำมือของหวอซื่อไข่  อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าฝ่ายปฏิวัติจะยึดดินแดนอยู่ในความครอบครองได้แล้วประมาณ ๒/๓ ของประเทศ       แต่เป็นการยึดครองอย่างหละหลวม  ระบบการบริหารยังเหินห่างจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ยิ่งกว่านั้น  การแปรรูปของรัฐบาลปักกิ่งทำให้ผู้นำฝ่ายใต้มีความเห็นแตกต่างกันในการมองศัตรู  ความเห็นส่วนมากยังคิดว่า การที่จะขับไล่ชาวแมนจูนั้นยังฝากความหวังไว้ให้หยวนได้  และจุดมุ่งหมายนี้ก็อาจจะได้รับความสำเร็จได้ด้วยการเจรจา
                                เมื่อปักกิ่งและนานกิงเลือกเอาการเจรจาเป็นเครื่องตัดสินการรวมประเทศ  หยวนจึงอยู่ในฐานะได้เปรียบคู่แข่งขันใด ๆ ภายในประเทศ  รัฐบาลนานกิงนั้นได้เผยฐานะของตนอย่างแน่วแน่ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมแล้วว่า  ตนจะสนับสนุนหยวนเป็นประธานาธิบดีเพียงแต่ให้หยวนโค่นล้มราชวงศ์แมนจูเท่านั้น  และซุนเองก็ได้ส่งโทรเลขไปยังหยวนในวันที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว  ยืนยันถึงเจตจำนงเช่นนั้น
                                ส่วนหยวนนั้น  เป็นคนมีความทะเยอทะยานใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ปกครองเมืองจีน  ไม่กังวลว่าจะเป็นรัฐบาลสาธารณรัฐหรือราชาธิปไตย  ฉะนั้น  ดูสถานการณ์ในเวลานั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรยุ่งยาก            แต่ปัญหาอยู่ที่หยวนสงสัยความสุจริตใจของซุน  และความได้เปรียบในเชิงการทหารทำให้เขาเล่นตัวในการเจรจา  เพื่อจะให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเสมือนหนึ่งพระมหาจักรพรรดิ
                                งานเจรจารวมจีนเหนือและจีนใต้  ได้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน  ในระหว่างการเจรจานั้นหยวนสามารถใช้ฐานะได้เปรียบของตนต่อรอง  และในบางครั้งก็เป็นการแสดงอำนาจต่อสำนักแมนจู  อุปสรรคอันยิ่งใหญ่ของหยวนในการที่จะใช้กำลังทหารปราบพวกก่อการปฏิวัติทางใต้ คือ การขาดแคลนเงิน  ซุนสามารถจูงใจให้รัฐบาลอังกฤษงดการจ่ายเงินใด ๆ ที่ได้มีการตกลงกันไว้แล้วให้แก่รัฐบาลปักกิ่ง  นอกจากนั้นตั้งแต่    คณะปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาลทหารที่อู่ซังเป็นต้นมา  ก็ได้สามารถสร้างความนิยมให้แก่มหาอำนาจได้  หยวนจึงหันไปชักชวนราชสำนักแมนจูให้สละราชสมบัติโดยความสมัครใจ  แม้ว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขันจากพวกขุนนางในพระราชสำนัก  แต่หยวนสามารถใช้เครื่องมือของตนคือกองทัพแผนใหม่ (เป่ยหยาง)           ขู่  จนขุนนางในพระราชสำนักต้องมีบัญชาให้จักรพรรดิซวนถุ่ง (ปูยี) ซึ่งมีพระชนมายุ ๖ ชันษา  สละราชบัลลังก์ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๑๙๑๒ เงื่อนไขของการสละราชบัลลังก์ที่สำคัญมี ๓ ประการ คือ
                                (๑)  ให้รัฐบาลสาธารณรัฐที่จะจัดตั้งขึ้น  ปฏิบัติการดีเป็นพิเศษอย่างพระมหาจักรพรรดิ  หลังจากที่พระองค์ได้สละราชสมบัติแล้ว  ทั้งนี้โดยการให้คงยศพระมหาจักรพรรดิไว้  รัฐบาลสาธารณรัฐจะให้การปฏิบัติการต่อพระองค์ด้วยไมตีอันดี  เปรียบเสมือนหนึ่งผู้นำของรัฐบาลต่างประเทศ  รัฐบาลสาธารณรัฐ      จะจัดหาเงินเลี้ยงชีพสำหรับพระมหาจักรพรรดิ  ในจำนวน ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ยวน ต่อปี  นอกจากนั้นให้                 พระมหาจักรพรรดิมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในพระมหาราชวัง  คงทหารรักษาพระองค์  ได้รับประกันในการรักษาสุสานของบรรพบุรุษและทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ไว้ได้
                                (๒) ให้รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ปฏิบัติต่อเชื้อพระวงศ์ดีเป็นพิเศษ  โดยให้คงสืบบรรดาศักดิ์ตามปกติ  ให้ได้รับสิทธิพิเศษดังพลเรือนจีน  ได้รับการคุ้มครองในทรัพย์สินส่วนตัว  และให้ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร 
                                (๓) ชาวแมนจู  มองโกเลีย  ชาวมะหะหมัด  และชาวทิเบตจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนจีน ได้รับการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  ให้มีการสืบบรรดาศักดิ์ตามปกติ  และให้ผู้ยากจนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล  นอกจากนั้นให้ประชาชนดังกล่าวมีเสรีภาพในการประกอบพิธีกรรมบูชาตามที่ตนนิยม
                                เงื่อนไขดังกล่าวให้ตีพิมพ์ในหนังสือทางราชการ  และให้ประกาศแก่ผู้แทนทางการทูตของต่างประเทศในกรุงปักกิ่งรับทราบไว้ด้วย
                                การสละราชสมบัติของราชวงศ์แมนจูถือได้ว่าเป็นชัยชนะอย่างหนึ่งของคณะก่อการปฏิวัติ  หนึ่งในสามของแนวนโยบายของคณะปฏิวัติได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว  แต่ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลระบอบสละราชสาธารณรัฐยังอยู่ในขั้นดำเนินการ  หลังจากซุนได้รับโทรเลขจากหยวนเกี่ยวกับการสละราชบัลลังก์ของจักรพรรดิแมนจู  และคำแถลงสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐของหยวนแล้ว  ซุนได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่อรัฐสภาชั่วคราวที่นานกิง  และเสนอหยวนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวแทน  แต่ตั้งข้อเรียกร้องในการจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐไว้เป็นเงื่อนไขของการลาไว้ด้วย ๓ ประการ  กล่าวโดยย่อ คือ
                                (๑)  ให้เมืองหลวงตั้งอยู่ที่นานกิง
                                (๒) หน้าที่ของเขาในฐานะเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว  และหน้าที่ของรัฐสภาชั่วคราวจะหมดไป  ต่อเมื่อหยวนย้ายมารับตำแหน่งใหม่ที่กรุงนานกิง
                                (๓) รัฐบาลชั่วคราว  จะต้องผูกพันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นโดยรัฐสภา               ซุนมีแผนการที่จะใช้วิธีการนี้กำจัดความทะเยอทะยานของหยวน  แต่การย้ายเมืองหลวงนอกจากจะเป็นสิ่งที่หยวนไม่ยอมแล้ว  ยังมีความเกี่ยวโยงถึงผลประโยชน์ของต่างประเทศที่ตั้งผู้แทนทางการทูต ณ กรุงปักกิ่งด้วย  ในที่สุดฝ่ายซุนจำต้องยอมให้หยวนปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวของสาธารณารัฐจีนในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๑๙๑๒ ในวันต่อมา ซุนในฐานะประธานาธิบดีชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อจะให้เป็นเครื่องมือผูกพันรัฐบาลหยวน
                                รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๑๙๑๒ นี้  มีสาระแตกต่างกับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นที่อู่ซังที่สำคัญ คือ เปลี่ยนรูปรัฐบาลจากระบบประธานาธิบดี (Presidential System) มาเป็นระบบรัฐสภา (Parliamentary  System) ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้  หยวนจะแต่งตั้งรัฐบาลซึ่งรับผิดชอบต่อรัฐสภาชั่วคราว      ซึ่งซุนเห็นว่าพวกคณะปฏิวัติเป็นฝ่ายมีเสียงข้างมาก  ซุนหวังที่จะใช้หลักการนี้ยับยั้งอำนาจของหยวน          หยวนแต่งตั้งถัง เซ่าอี้  ไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่นานกิง  ซึ่งตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น รัฐมนตรีมหาดไทย  รัฐมนตรีทหารบก  และรัฐมนตรีทหารเรือ  ล้วนแต่เป็นคนของหยวนทั้งสิ้น  รัฐสภาชั่วคราวอนุมัติให้ซุนลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวเป็นทางการในวันที่ ๑ เมษายน  ในวันที่  เดือนเดียวกันรัฐสภาชั่วคราวมีมติ      ให้ย้ายรัฐบาลชั่วคราวไปยังกรุงปักกิ่ง  ดังนั้น รัฐบาลนานกิงและปักกิ่งจึงรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้        ป้ายระบอบสาธารณรัฐ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น