วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ขบวนการปฏิรูปและการปฏิวัติ

                                ประเทศญี่ปุ่นซึ่งในตอนแรกได้ตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของฝรั่งเช่นเดียวกับจีนนั้น  ได้แสดงความสามารถในการเลียนแบบฝรั่งให้จีนเห็นด้วยการปะทะกำลังกับจีนในสงครามจีน ญี่ปุ่น (๑๘๙๔ ๑๘๙๕) ในสงครามคราวนี้  จีนต้องยอมเซ็นสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty  of  Shimonoseki)  กับญี่ปุ่นในวันที่ ๑๗ เมษายน ๑๘๙๕  โดยยอมรับข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่นเกือบทุกประการ           จีนต้องยอมรับความเป็นเอกราชของเกาหลี  นั่นคือจีนยอมรับฐานะความเป็นใหญ่ของญี่ปุ่นเหนือเกาหลีดังที่จีนดำรงฐานะมาก่อน  และนอกจากจะต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามและเปิดเมืองท่าการค้าให้แก่ญี่ปุ่นตามแบบฉบับสัญญาที่จีนเคยทำกับชาวตะวันตกมาหลายครั้งแล้วนั้น  จีนยังต้องเสียเกาะไต้หวัน  หมู่เกาะเปสคาดอเรส  และแหลมเหลียวตุงให้แก่ญี่ปุ่นอีกด้วย
                                การแพ้สงครามญี่ปุ่น  ติดตามด้วยการขยับขยายอิทธิพลของมหาอำนาจทั้งหลายในดินแดนจีน  นับเป็นพลังผลักดันขนานใหญ่สำหรับปัญญาชนชาวจีนจะยอมรับฐานะความเป็นผู้ไร้สมารถภาพของตัว  เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เปิดตาชาวจีนให้เห็นว่าการเลียนแบบฝรั่งมีความจำเป็นในความเป็นอยู่ของประเทศ  ปัญญาชนผู้สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงอาจแบ่งได้เป็น ๒ จำพวก  พวกหนึ่งสนับสนุนการปฏิรูป  อีกพวกหนึ่งสนับสนุนการปฏิวัติ
                                ท่าทีของพวกสนับสนุนนโยบายการปฏิรูป  นับว่าก้าวไปไกลกว่าพวกต้องการเลียนแบบชาวตะวันตกที่สนใจเฉพาะวิชาการทหารและการอุตสาหกรรม  ดังได้กล่าวมาบ้างแล้วข้างต้น  คังอิ่วหวุย อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนในกลุ่มชนที่มีความคิดเช่นนี้  ถือได้ว่าเขาแทนความเห็นข้างมากในโครงร่างของรัฐบาลสมัยนั้น     คังสำนึกได้จากการสังเกตการณ์พัฒนาประเทศญี่ปุ่นว่า การพัฒนาตามแบบตะวันตกนั้นมีความหมายกว้างกว่าหล่อปืนต่อเรือดังที่กระทำกันอยู่แต่ก่อน  ในขณะเดียวกันสังคมจีนยังมีส่วนที่น่าพิสมัยเลิศล้ำกว่าของชาวตะวันตกอยู่มาก  ในฐานะที่เป็นหนุ่มที่ปราดเปรื่องในด้านวิชาการ  เขาสามารถร่วมมือกับพรรคพวกสร้างสูตรผสมระหว่างของดีของตะวันตกและของดีของจีนในความคิดของเขา  เพื่อหวังจะให้เป็นพื้นฐานในวิถีชีวิตของสังคมจีนในอนาคตสืบไป  แต่ผู้สนับสนุนเขานั้นมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปในข้อที่ว่าจะยอมรับเอา        ของดีของฝรั่ง มากน้อยเพียงใด
                                ส่วนพวกที่สนับสนุนนโยบายปฏิวัตินั้น  ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์แมนจูและเป็นปฏิปักษ์ต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของจีน  และต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในด้านการเมือง  พวกนี้ต้องการรัฐบาลที่เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ส่วนใหญ่ของประชาชน  ซุนยัดเซ็น  ผู้ซึ่งได้หันหลังให้แก่ราชบัลลังก์แมนจูตั้งแต่ ๑๘๘๕ ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของพวกที่มีความเห็นนี้
                                ในระยะเวลาตั้งแต่ปี ๑๘๗๕ ๑๘๙๘  อาจถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของการชิงไหวพริบกันระหว่างพรรคที่ต้องการปฏิรูปและพรรคที่ต้องการปฏิวัติ  ในระยะเวลาอันสั้นนี้  ฝ่ายแรกนำโดยคังอิ่วหวุย เป็นฝ่ายมีเสียงข้างมาก  แต่ภายหลังความล้มเหลวและต้องหนีเอาชีวิตรอดในปี ๑๘๙๘ แล้ว  น้ำหนักตาเต็งได้ค่อย ๆ หันเหไปอยู่กับฝ่ายหลังซึ่งนำโดยซุนยัดเซ็น  ทิ้งช่วงระหว่างปี ๑๘๙๘ ๑๙๑๑ ไว้ให้พวกผู้นำประเทศ            ฝ่ายอนุรักษ์นิยม  และหัวหน้าชาวแมนจูผู้ซึ่งต่อต้านทั้งการปฏิรูปและปฏิวัติได้หายใจเป็นครั้งสุดท้าย
                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น