วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สงครามฝิ่น

         ในปี ๑๘๓๙ การขัดแย้งระหว่างจีนกับอังกฤษก็ต้องตัดสินกันด้วยสงคราม ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน การค้าฝิ่นเถื่อนได้ระบาดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ความเห็นของข้าราชการจีนแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรให้มีการตกลงทำสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศเป็นทางการ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรกำจัดการค้าฝิ่นให้เด็ดขาด ด้วยเหตุที่ฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษ ฝ่ายหลังเป็นฝ่ายมีชัย ในการตัดสินนโยบายเรื้อรังข้อนี้ ในเดือนมกราคม ๑๘๓๙ พระมหาจักรพรรดิได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หลินเจ้อสวีเป็นข้าหลวงพิเศษส่วนพระองค์เพื่อจัดการปัญหาค้าฝิ่น หลินได้เดินทางมาถึงเมืองกวางตุ้งในเดือนมีนาคมด้วยความมั่นใจที่จะกำจัดฝิ่นให้หมดไป เขาได้ออกคำสั่งให้พ่อค้าต่างชาติทั้งหมด ที่มีฝิ่นอยู่ในครอบครองเอาฝิ่นส่งมอบให้แก่ทางการ ครั้นแล้วก็เอาฝิ่นประมาณ ๒๐,๐๐๐ หีบ โยนลงน้ำจนหมดสิ้น ชาวอังกฤษภายใต้การนำของ ชาร์ลส์ อิลเลียต (Charles Elliot) ได้ถอนตัวไปพักอยู่ที่หมาเก๊า แต่การค้าฝิ่นเถื่อนก็ยังลักลอบกระทำกันอยู่อย่างชุกชุม ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้น ได้เกิดกรณีฆาตกรรมชาวจีนขึ้นโดย ชาวอังกฤษ และเจ้าหน้าที่อังกฤษไม่ยอมส่งตัวผู้ร้ายขึ้นศาลจีน จึงนำไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน ๑๘๓๔ ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน รัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอนได้ตัดสินให้อังกฤษใช้กำลังบังคับกับจีน ในเดือนกรกฎาคมเรือรบอังกฤษได้ล้อมเมืองกวางตุ้ง และเริ่มยึดเกาะใกล้เคียง เมื่ออังกฤษได้กำลังหนุนจากอินเดียในเดือนสิงหาคม ๑๘๔๒ จึงได้เคลื่อนทัพเรือเข้าโจมตีนานกิง จีนต้องยอมจำนนด้วยการทำสนธิสัญญานานกิง (Treaty of Nanking) ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๑๙๔๒ นับเป็นการลดฐานะของประเทศจีนดังที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

ข้อความในสนธิสัญญานานกิงที่สำคัญ มีดังนี้

(๑) ประเทศจีนยอมเปิดเมืองท่าที่สำคัญ ๕ เมือง คือ กวางตุ้ง เซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) ฝูโจว หนิงปอ และ
      เซี่ยงไฮ้ (ซึ่ง ๕ เมืองนี้ภายหลังเรียก กันว่าเมืองท่าตามสนธิสัญญา) ให้ชาวต่างชาติทำการค้าและ
      พักอาศัยได้โดยเสรี และชาวต่างชาติมีสิทธิที่จะแต่งตั้งกงสุลประจำเมืองนั้น ๆ ได้
(๒) ให้กำหนดอัตราภาษีขาเข้า – ขาออกในอัตราที่แน่นอน และในอัตราต่ำพอควร ซึ่งต่อมาได้ตกลงกัน
      ในอัตรา ๕ เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า
(๓) ให้ยกเลิกระบบโคหอง และชาวอังกฤษมีสิทธิค้ากับเอกชนชาวจีนได้
(๔) ให้จีนชำระราคาฝิ่นที่ถูกทำลาย และค่าสินไหมทดแทนในการสงคราม ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ ยวน
(๕) ให้การติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่จีนและอังกฤษเป็นไปในรูปการสื่อสาร ไม่ใช่เป็นรูปร้องเรียน
      (petition) ดังที่เป็นมาแต่ก่อน
(๖) ให้ยกเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ
(๗) ให้ชนที่มีสัญชาติอังกฤษมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในการศาลในคดีอาญา (ในคดีแพ่ง ได้ตกลง
      รวมอยู่ในสนธิสัญญาอเมริกัน – จีน ในปี ๑๘๔๔)
(๘) ให้อังกฤษได้รับฐานเป็น “ชาติที่จะได้รับอนุเคราะห์อย่างยิ่ง” (most – favored nation)

       ในสนธิสัญญานั้นมิได้กล่าวถึงเรื่องการค้าฝิ่นแต่ประการใด สิทธิที่อังกฤษได้รับนี้ ต่อมา ชาติอื่น ๆ เช่น อเมริกา นอรเว-สวีเดน เบลเยียม ฝรั่งเศส และโปรตุเกสก็พลอดได้รับด้วย โปรตุเกสพยายามฉวยโอกาสที่จีนกำลังอยู่ในห้วงแห่งภยันตราย เรียกร้องให้จีนสละอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนหมาเก๊าให้แก่ตน แม้จีนจะได้ปฏิเสธ แต่โปรตุเกสก็ได้ประกาศให้หมาเก๊าเป็นเมืองท่าเสรีโดยพลการในปี ๑๘๔๕ ต่อมาในปี ๑๘๘๗ จีนจึงได้ยอมให้โปรตุเกสมีอำนาจเหนือเกาะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น