วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ก๊กมินตั๋งและรัฐบาล

                จากปีเจียงไคเช็คสามารถรวบรวมประเทศจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  จนกระทั่งการเริ่มต้นสงครามจีน – ญี่ปุ่น (๑๙๒๘ – ๒๙๓๗ )  นั้น  แม้การแตกแยกภายในดังจะได้กล่าวไปบทต่อไปนั้นยังคงดำเนินต่อไป  แต่ก๊กมินตั๋งก็ได้ตัดสินเปลี่ยนโฉมหน้าของการปฏิวัติจากเผด็จการโดยทหาร  มาเป็นการปกครองโดยพรรคการเมือง (poltical tutelage) อันเป็นตอนที่ 2  ของการปฏิวัติหลัดสูตร 3 ชั้นของซุนยัดเซ็น  ภายหลังชัยชนะ เจียงได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพก๊กมินตั๋งพร้อมด้วยตำแหน่งของสภาการทหาร  แต่ยังเกาะตำแหน่งฐานะผู้นำของพรรคอย่างเหนียวแน่น  เมืองหลวงได้ย้ายจากปักกิ่งมาตั้งอยู่นานกิง  ในเดือนมิถุนายน ๑๙๒๙  ศพของตำแหน่งสาธารณรัฐจีนได้รับอัญเชิญจากปักกิ่งมาเก็บรักษาไว้ในสุสานที่สร้างไว้อย่างวิจิตรพิสดาร ณ กรุงนานกิง  สถานที่อันเป็นที่เริ่มศักราชของการปกครองโดยพรรคการเมือง
                รัฐบาลพิสดารโดยแบ่งผู้ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 5 สาขา  และนำโดยพรรคการเมืองตามคำสอนของซุนยัดเซ็นหรือคัมภีร์ก๊กมินตั๋งนั้น  รัฐบาลที่จัดตั้งใหม่ในปี ๑๙๔๘  โดยยึดถือหลักของรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศใช้ในวันที่ ๒๕  ธันวาคม  ๑๙๔๖ นั้น  ได้ก้าวไปอีกชั้นหนึ่งอันเป็นการยกเลิกการปกครองโดยพรรคการเมือง   และเปลี่ยนไปเป็นขั้นสุดท้ายของการปฏิวัติ  นั่นคือรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญ  การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ความจริงเป็นการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกเพื่อให้เป็นไปตามทฤษฎีที่ซุนยัดเซ็นวางไว้เท่านั้น  ในการปฏิวัติไม่ว่าจะเป็นระยะเผด็จการโดยทหาร ระยะปกครองโดยพรรคการเมือง หรือระยะการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ  ฝ่ายทหารโดยการนำของเจียรไคเช็คยังคงใช้อำนาจเผด็จการเสมอมา
                การที่จะเข้าใจระบอบการปกครองของจีนภายใต้การนำของก๊กมินตั๋งได้ดีนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้พิจารณาถึงคำสอนของซุนยัดเซ็น  ซึ่งถือกันว่าเป็นคัมภีร์ของพรรคและองค์การบริหารของพรรค  ซึ่งซุนยัดเซ็นได้วางรากฐานไว้เสียก่อน

กบฏไถ้ผิง

                กบฏไถ้ผิงถือได้ว่าเป็นต้นตระกูลของการปฏิวัติในสมัยหลัง ๆ และมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับการปฏิวัติเพื่อสถาปนาสาธารณรับประชาชนจีนเป็นอย่างมาก  โดยที่พฤติกรรมทั้งสองเป็นการแสดงออกเพื่อรับภัยพิบัติในทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศจีนประการหนึ่ง  ทั้งสองเป็นผลเกิดจากการรุกรานจากภายนอก  กล่าวคือ การรุกรานจากชาวตะวันตกนำโดยประเทศอังกฤษในกรณีกบฏไถ้ผิง  และการรุกรานจากญี่ปุ่นในกรณีการปฏิวัติเพื่อจัดตั้งระบบคอมมิวนิสต์อีกประการหนึ่ง  และทั้งสองพฤติกรรมได้ก่อขึ้นโดยผู้นำเข้าที่เข้มแข็ง  โดยรับเอาอุดมการณ์ต่างด้าวมาใช้  และปฏิเสธขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลอย่างสิ้นเชิง  อุดมการณ์นั้น ๆ ก็คือศาสนาคริสต์และลัทธิมาร์กซ์
                                นักประวัติศาสตร์ส่วนมากกล่าวหาผู้นำกบฏไถ้ผิงว่าเป็นคนบ้าบิ่น  และเป็นสัตว์กระหายเลือด  โดยให้ชื่อพวกกบฏนี้ว่า แก๊งโจรผมยาว (“Long – Haired Bandits”) หนึ่งศตวรรษหลังจากการปฏิวัติได้ล้มเหลวลง  เขากลับได้รับการยกย่องจากนักชาตินิยมชาวจีนว่าเป็นผู้รักชาติ  และได้รับการยกย่องจากจีนคอมมิวนิสต์ว่าเป็นหน่วยแนวหน้าของลัทธิสังคมนิยม  ปรากฏว่าในต้นปี ๑๙๓๐ ได้มีการค้นพบเอกสารสำคัญของพวกกบฏไถ้ผิงเป็นอันมาก  ภายหลังที่จีนคอมมิวนิสต์ได้ปกครองประเทศจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่แล้ว  เหตุการณ์กบฏไถ้ผิงได้รับการพิจารณาว่าเป็นขั้นทดลองของระบอบสังคมนิยม  ผู้นำของกบฏไถ้ผิงได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้ซึ่งรักประชาชนโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว  ในทางตรงกันข้าม แม่ทัพผู้ปราบกบฏไถ้ผิง  เช่น  เจิงกว๋อฟัน  ซึ่งแต่เดิมถือกันเป็นวีรบุรุษนั้น  กลับถูกลดฐานะเป็นผู้ทรยศต่อประชาชนและเป็นผู้นำของพวก    ถอยหลังเข้าคลอง  ดังนั้นกบฏไถ้ผิงจึงมีความสำคัญในทางการเมืองของจีนอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
                                ขบวนการกบฏไถ้ผิงนำโดยชนจีนแคะชื่อ หุงซิ่วฉวน  หุงซิ่วฉวนเกิดในปี ๑๘๑๔ เขาได้เริ่มศึกษาตำราขงจื๊อ  โดยมีความมุ่งหวังที่จะเข้ารับราชการ  แม้จะปรากฏตามหลักฐานว่า เขาเป็นเด็กที่มีความฉลาดมาก  แต่ก็ได้ผิดหวังจากการสอบแข่งขันในส่วนจังหวัดเมื่อเขามีอายุ ๑๖ ปี  ในระหว่างปี ๑๘๓๐ ๑๙๔๓ เขาได้ตั้งตัวเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนตามหมู่บ้านโดยยังไม่ได้ละทิ้งความตั้งใจเดิมที่จะยึดถือตำแหน่งข้าราชการเป็นอาชีพ  ผู้ที่สอบตกจากการสอบไล่ทั่วไปในจังหวัดอาจมีสิทธิเข้าสอบในภาคได้  หุงซิ่วฉวนได้เตรียมตัวเข้าสอบไล่ในภาคอีก ๓ ครั้ง  คือ ปี ๑๘๓๔  ๑๘๓๗ และ ๑๘๔๓  แต่ก็ได้รับการผิดหวังทุกครั้ง  เมื่อเขาผิดหวังในการสอบปี ๑๘๓๗ นั้น ก็ได้ล้มเจ็บอย่างหนัก  ตามเรื่องกล่าวว่า ในขณะที่เขาเจ็บหนักอยู่นั้น เขาได้มองเห็น     ภาพหลอนของพระผู้เป็นเจ้า  ความรู้เรื่องศาสนาคริสต์ซึ่งเขาได้สนใจเรียนรู้มาจากหมอสอนศาสนานิกาย         โปรเตสแต้นท์  เมื่อเขามีอายุประมาณ ๒๐ ปีนั้น  เป็นแนวทางชักนำให้เขาวาดภาพศาสนาคริสต์ในจินตนาการของเขาขึ้น  โดยดัดแปลงศาสนาคริสต์เป็นศาสนาคริสต์องค์ ๓ (Christian  Trinity) ได้แก่  องค์ศาสดาหรือเจ้าพ่อ  เจ้าพี่เอื้อย  และเจ้าพี่จ้อย
                                ตามคำสอนของเขาซึ่งได้เริ่มเผยแพร่อยู่แถบมณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่ปี ๑๘๔๔ ภายหลังที่เขาต้องถูกออกจากอาชีพครูเพราะแสดงความไม่เคารพต่อสถานที่บูชาขงจื๊อ  เขาได้รับมอบเจตนารมณ์จากพระเจ้า       ให้เป็นผู้ครองแผ่นดินแทนราชวงศ์แมนจู  ในขณะเดียวกัน เฝิงหยุนซัน ได้รวบรวมสาวกของหุงซิ่วฉวนจัดตั้งสมาคมศาสนาคริสต์ขึ้น  โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลกวางสี และในปี ๑๘๔๗  หุงเข้าเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำของสมาคมศาสนากึ่งการเมือง  ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน
                                สมาชิกของสมาคมนี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว  สมาชิกส่วนมากมาจากกสิกรชาวแคะผู้ยากจนและกรรมกรชาวเผ่าแม้ว  นอกจากนั้นยังมีกลุ่มนักศึกษาผู้มีหัวคิดรุนแรง  นักรบ  รวมตลอดถึงพ่อค้าและชนชั้นผู้ดีทั้งหลายซึ่งมีความไม่พอใจในรัฐบาล  เนื่องจากการรวมตัวกันแบบนี้เต็มไปด้วยนักฉวยโอกาสต่าง ๆ  การแบ่งพรรคแบ่งพวกและแย่งชิงกันเป็นใหญ่ในสมาคมก่อให้เกิดการแตกแยกนั้นมีอยู่เสมอ  หุงซิ่วฉวนเป็นคนมีความสามารถรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นอันเดียวกันได้  ไม่นานกิ่งก้านสาขาของสมาคมนี้ก็ได้แตกแยกไปในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันออกของมณฑลกวางสี  นอกจากนั้นสมาคมลับเป็นจำนวนมากได้ให้ความสนับสนุน  สมาคมนี้ผิดกับสมาคมลับในข้อที่ว่า  สมาคมนี้ได้มีนโยบายแจ่มแจ้งแล้วว่า ต้องการจะจัดตั้งราชบัลลังก์ขึ้นใหม่ตามอุดมการณ์ของหุงซิ่วฉวน  นอกจากนั้นกิจการของสมาคมลับที่หวังการกลับคืนอำนาจของราชวงศ์หมิงนั้น  เป็นสิ่งที่ไร้ความหมายในสายตาของหุงซึ่งเป็นคนนอกรีตไปเสียแล้ว  ในปี ๑๘๕๐ ปรากฏว่าสมาคมนี้มีผู้สนับสนุนถึง ๓๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีอยู่ไม่น้อยที่ได้เริ่มก่อความไม่สงบอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ
                                ในปี ๑๘๕๐ รัฐบาลได้ประกาศกล่าวหาสมาคม  โดยให้ชื่อว่าเป็นสมาคมก่อกวนความสงบ  และเมื่อรัฐบาลเริ่มลงมือปราบปราม  หุงพร้อมด้วยสมัครพรรคพวกรวม ๑๐,๐๐๐ คน ก็ได้ตั้งตนเป็นกบฏอย่างเปิดเผย  โดยเข้าทำลายกำลังของรัฐบาลในมณฑลกวางสี  และในวันที่ ๒๕ กันยายน ๑๘๕๑ หลังจากได้            ยึดครองหยุ่งอันแล้ว  สมาคมก็ได้สถาปนาชื่อประเทศใหม่ขึ้น เรียกว่า ไถ้ผิงเทียนกว๋อ (รัฐสันติวิมาน) แม้ว่ากำลังทหารฝ่ายรัฐบาลจะมีเหนือกว่า ก็ไม่สามารถปราบปรามพวกกบฏได้
                                ในระหว่างปี ๑๘๕๐ ๑๘๕๓  ฝ่ายกบฏได้ชัยชนะในการสงครามตลอดมา  กำลังได้เคลื่อนจากมณฑลกวางสีเข้ายึดได้หูหนัน  หูเป่ย  ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี  และในที่สุดยึดได้นานกิง  หุงได้เปลี่ยนชื่อนานกิงเป็นเทียนจิง (วิมานนคร) แม้ว่ากำลังฝ่ายรัฐบาลจวนจะถึงซึ่งความพินาศ  แต่ว่ากำลังฝ่ายกบฏก็เริ่มอ่อนแอลงด้วยความแตกแยกกันระหว่างแม่ทัพนายกอง  และหุงซิ่วฉวนเองก็พอใจในความสุขจากสนมกำนัลในราชสำนัก  ถ้าหากฝ่ายกบฏได้ใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น  ก็อาจจะยึดประเทศจีนได้ทั้งหมด  เพราะว่าในขณะนั้นทางเหนือก็เกิดโจรกรรมชุกชุม  และชาวมอสเลมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็กำลังจะก่อหวอดทำการกบฏเช่นกัน  แทนที่จะเคลื่อนทัพอันเกรียงไกรต่อไปอีก  แต่ก็หยุดนิ่งอยู่กับที่ ในช่วง ๑๐ ปี นับตั้งแต่ปี ๑๘๕๓       เป็นต้นไป  นานกิงก็อยู่ในฐานะตั้งรับ  และในปี ๑๘๖๔ ทหารที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์แมนจูก็สามารถยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ได้  หุงเองต้องฆ่าตัวตาย  กบฏก็ราบคาบลง
                                อุดมการณ์และการปฏิบัติของกบฏไถ้ผิง  ภายหลังจากการยึดครองนานกิงได้แล้ว  รัฐบาลกบฏไถ้ผิงเริ่มวางโครงการปฏิรูปการเกษตร  แต่เนื่องจากขบวนการกบฏไถ้ผิงครองอำนาจอยู่ได้ไม่นาน  โครงการที่ตั้งไว้จึงมิได้นำไปปฏิบัติ อย่างจริงจังแต่อย่างใด  ตามเอกสารโครงการปฏิรูปที่ดินนั้น  มีระบบคล้ายกับระบบบ่อนาที่เชื่อกันว่าใช้กันอยู่ในสมัยราชวงศ์ซังและโจว  และมีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบการจัดสรรที่ดินในลัทธิคอมมิวนิสต์มาก
                                ระบบการจัดสรรที่ดินตามโครงการของรัฐบาลกบฏไถ้ผิง  กล่าวโดยย่อก็คือ ให้ถือว่าที่ดินและผลิตผลทั้งหมดเป็นของรัฐ  รัฐมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของเด็ก  คนชรา  ผู้อ่อนแอ  และบุคคลทุพพลภาพ  รัฐรับหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ได้รับความเจ็บป่วยตามหลักประกันสังคมสมัยใหม่  รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการแต่งงานและการทำศพของประชาชน  บุคคลทั้งชายและหญิงผู้อยู่ในระหว่างอายุ ๑๖ ปี ๕๐ ปี จะได้รับส่วนแบ่งในที่ดินเท่ากัน  เพื่อใช้ในการเพาะปลูก  และให้ประชาชนถือธัญญาหารได้เฉพาะที่จำเป็นแก่การครองชีพเท่านั้น
                                ที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกให้แบ่งออกเป็น ๙ ระดับตามคุณภาพของเนื้อที่ ให้ทุกคนได้รับ      ส่วนแบ่งในที่ดินดีเลวในอัตราเท่าเทียมกัน  นอกจากที่ดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูกแล้ว  ราษฎรยังจะต้องทำอุตสาหกรรมครอบครัว  และเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นการเพิ่มผลิตผล  ผลิตผลที่ได้จาการการนี้ให้ตกเป็นของชุมชน  คล้ายกับระบอบคอมมูนในสมัยหลังของจีนคอมมิวนิสต์  หุงให้อรรถาธิบายแผลงมาจากศาสนาคริสต์ว่า  ทุกคนภายใต้สวรรค์เป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกัน  ภายใต้ความโอบอ้อมอารีและการนำขององค์พระศาสดาเบื้องบนสวรรค์  และกษัตริย์แห่งพื้นพิภพ ณ เมืองนานกิง  ให้ทุกคนละทิ้งจากการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและทำงานในที่ดินสาธารณะเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างร่วมทุกร่วมสุขด้วยกัน
                                แม้ว่าโครงการจะได้วางไว้อย่างละเอียดสักปานใด  ก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างที่ขีดเขียนไว้            บนแผ่นกระดาษ  จากการค้นคว้าเร็ว ๆ นี้  ปรากฏว่าโครงการนี้ได้นำไปใช้ในชั่วระยะเวลาสั้น  และในผืนแผ่นดินไม่กี่หย่อม  เฉพาะพื้นที่ที่มีการนำเอาโครงการนั้นไปใช้ปฏิบัติก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ตามโครงการที่เขียนไว้  แต่แก้ไขอนุโลมไปตามความจำเป็นในเมื่อโครงการนี้ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชน      จากหลักฐานของนักสังเกตการณ์บางคนกล่าวว่า  ระบบคอมมิวนิสต์ได้ใช้ปฏิบัติในเขตนานกิงภายหลังจากพวกกบฏไถ้ผิงได้ครอบครองนานกิงแล้ว
                                ข้อที่น่าสังเกตคือเรื่องสิทธิของสุภาพสตรี  นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน ที่รัฐบาลไถ้ผิงได้ประกาศให้สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษ  ในระหว่างทำการปฏิวัตินั้น  หญิงเป็นจำนวนมากได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในกองทัพเช่นเดียวกับขบวนการย้ายที่มั่นมาราธอน (The  Long  March) ของเมาเซตุงจากมณเฑียรเกียงซีไปยังเมืองเอี๋ยนอัน  ในปี ๑๙๓๔ ๑๙๓๖ และเมื่อมีการล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น  ผู้นำได้ขจัดปัญหานี้ด้วยการแบ่งค่ายของหญิงออกต่างหาก  ภายใต้การบังคับของทหารหญิง  เมื่อพวกกบฏครอบครอง     นานกิงแล้ว  สุภาพสตรีได้รับสิทธิเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โดยให้เข้าทำการสอบไล่ทั่วไปของจีนได้  และ    ผู้มีความสามารถสอบได้  ก็ให้รับตำแหน่งในหน้าที่เลขานุการ  การปฏิบัติของสุภาพสตรีในการหุ้มห่อให้เท้าเล็กและยาวเพียง ๓ นิ้วก็ดี  อาชีพหญิงโสเภณีในสมัยแมนจูก็ดี  ได้ถูกประกาศห้ามเด็ดขาด  แม้ว่าการปฏิรูปเหล่านี้จะได้ปฏิบัติในระยะเวลาสั้นและไม่ทั่วถึง  แม้ในสังคมที่อยู่ในความครอบครองของพวกกบฏไถ้ผิงก็ตาม  อุดมการณ์สมัยใหม่ก็ได้ปรากฏในสังคมจีนเมื่อสมัย ๑๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว
                                สำหรับปัญหาการสูบฝิ่นนั้น  รัฐบาลไถ้ผิงได้ห้ามปรามอย่างเด็ดขาด  ผู้สูบฝิ่นและสูบบุหรี่        มีโทษถึงประหารชีวิต  จึงถือได้ว่ารัฐบาลไถ้ผิงได้เป็นห่วงเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษนี้อย่างมาก
                               

การขยายตัวของญี่ปุ่น

                                อิทธิพลของจีนมีอยู่เหนือญี่ปุ่นเป็นเวลา ๒,๐๐๐ ปีเศษ นับตั้งแต่ญี่ปุ่นก่อร่างสร้างตัวเป็นต้นมา  ครั้นถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ลมตะวันออกก็เริ่มพัดเข้าสู่ผืนแผ่นดินใหญ่  ประเทศจีนก็ตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของประเทศญี่ปุ่นอีกประเทศหนึ่ง  ครั้งแรกญี่ปุ่นขยายอาณานิคมของตน  โดยแยกหมู่เกาะริวกิวและเกาหลีออกจากอิทธิพลของจีน  ตั้งแต่ราชวงศ์แมนจูขึ้นมามีอำนาจ  ประเทศจีนมิได้มีการติดต่อกับประเทศญี่ปุ่นเป็นทางการมาจนกระทั่งปี ๑๘๗๑  ในปีนั้น หลี่หูงจัง ได้ยอมตกลงทำสนธิสัญญาการค้ากับญี่ปุ่นในฐานะเท่าเทียมกันตามกฎหมาย  แต่ก่อนมีการให้สัตยาบันในสนธิสัญญา  เหตุการณ์ในริวกิวก็ได้เกิดขึ้น  หมู่เกาะริวกิวนั้นทั้งจีนและญี่ปุ่นก็อ้างว่าเป็นดินแดนของตน  ความจริงเจ้าครองหมู่เกาะริวกิวเริ่มส่งส่วยให้แก่จักรพรรดิจีน  ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔ ต่อมาญี่ปุ่นขยายอิทธิพลของตนเข้าไปในดินแดนริวกิวเพิ่มขึ้นตามลำดับ  จนในศตวรรษที่ ๑๗ เจ้าเมืองหรือ ไดเมียว แห่งซัตสุมา  ได้รับมอบอำนาจเป็นทางการให้ทำการปกครองดินแดนในหมู่เกาะริวกิวด้วย  ภายหลังการทำสนธิสัญญาการค้ากับจีนในปี ๑๘๗๑  ชาวหมู่เกาะริวกิวเกิดเรือแตกใกล้ฝั่งไต้หวัน  และชาวเรือ ๕๔ คน ในจำนวน ๖๖ คน ได้ถูกชาวพื้นเมืองเกาะไต้หวันฆ่าตาย        เมื่อซาเอนจิมาตาเนโอมิ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้เดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อทำพิธี        ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาการค้า  เขาได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากรัฐบาลจีน        แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธความรับผิดชอบในการกระทำของชาวพื้นเมือง  ญี่ปุ่นจึงได้ส่งกองทัพเรือเข้ายึดเกาะไต้หวัน  ในที่สุดอังกฤษได้เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย  และผลก็คือจีนยอมรับให้ญี่ปุ่นมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนหมู่เกาะริวกิว  ในปี ๑๘๗๙ หมู่เกาะริวกิวได้จัดการบริหารเป็นหน่วยหนึ่งของเขตจังหวัดโอกินาวา  เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น  และก็นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการบ่ายโฉมหน้าในทางการเมืองของญี่ปุ่น  จะเห็นว่าภายในประเทศญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยควันจากการรุกรานของชาวตะวันตก  และยังถูกผูกมัดด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต  ตลอดจนสิทธิการเก็บภาษีซึ่งยังถูกจำกัดนั้น  ก็สามารถตีตนเสมอชาวตะวันตก  เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศจีนเช่นเดียวกัน

การค้นหาเส้นทางสายใหม่ (กบฏ  ปฏิรูป  และการปฏิวัติ)
                                เกียรติคุณของประเทศจีนได้ถูกทำลายลงโดยมหาอำนาจตะวันตกนำโดยอังกฤษ  ความไร้สมรรถภาพและความเป็นผู้เกกมะเหรกไม่เป็นระเบียบของเหล่าทหารราชวงศ์แมนจู  ได้เบนบ่ายความแค้นเคืองของประชาชน  จากการรุกรานของประเทศตะวันตกมาสู่ราชบัลลังก์แมนจู  ปี ๑๘๔๐ ๑๘๕๐ นับว่าเป็นกลียุคในสังคมจีน  ประชาชนนอกจากจะได้รับการทอดทิ้งจากรัฐบาลและได้ยินได้ฟังการทุจริตในวงการรัฐบาลแล้ว  ยังต้องประสบกับความล้มเหลวในการเพาะปลูก  การขูดรีดจากราชาที่ดิน  และภาษีแบบรีดนาทาเร้น  ฉะนั้นผลก็เป็นที่ประจักษ์ว่าในระหว่าง ๑๐ ปีนี้  ไม่มีปีใดที่ประชาชนทำมาหากินอย่างสงบได้  กบฏและการปล้นสะดมกลายเป็นของธรรมดา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนภูมิภาคทางด้านตะวันตกเฉียงใต้  กบฏที่สำคัญที่สุดได้แก่กบฏไถ้ผิง (ไต้เผ็ง)

การคุกคามของรัสเซีย

                                ประเทศเพื่อนบ้านของจีนอีก ๒ ประเทศ ที่มีส่วนในการทำลายอิทธิพลของจีนในเอเชีย  คือ  รุสเซียและญี่ปุ่น  สำหรับรุสเซียนั้นได้แผ่ขยายอาณาเขตของตนไปทางตะวันออก กลืนดินแดนผืนเล็กผืนน้อยไปจนกระทั่งจดทะเล  รุสเซียได้ขยายอาณาเขตของตนมาปะทะกับจีนและหยุดชะงักด้วยสนธิสัญญา เนอร์ชิ่ง (Nerchinsk, 1689)  กระนั้นก็ดีรัฐบาลแมนจูก็ปล่อยให้ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำมังกรดำ (หรือแม่น้ำอามูร์) เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ  และมิได้บุกเบิกออกมาเพื่อเตรียมต้อนรับภัยคุกคามจากรุสเซีย  ในปี ๑๘๔๗ รัฐบาลแห่งพระเจ้าซาร์มีความกระหายในการได้ดินแดนแถบนี้ของจีน  โดยการขยายอิทธิพลในการปกครองคืบหน้าล่วงล้ำเข้าไปในเขตของจีนตามสนธิสัญญาเนอร์ชิ่ง  พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่หนึ่ง ได้แต่งตั้งให้เคาท์ มูราเวียบ เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำไซบีเรียตะวันออกโดยได้รับมอบหมายอำนาจพิเศษให้ทำการสำรวจดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำมังกรดำ  รุสเซียมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการได้เมืองท่าออกทะเลทางตะวันออก  ประจวบกับจีนกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งภยันตรายอันเป็นผลจากการค้ากับชาวตะวันตก ในปี ๑๘๔๘ มูราเวียบได้ส่งกองทหารล่วงล้ำเขตแดนตามสนธิสัญญาเนอร์ชิ่งไปจนถึงแม่น้ำมังกรดำ ในปี ๑๘๕๓  ได้กลืนหมู่เกาะแซคาลินเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรุสเซีย  รัฐบาลจีนมิได้สนใจในการล่วงล้ำดินแดนของรุสเซียแต่อย่างใด  ทั้งนี้เพราะต้องกังวลกับการคุกคามของชาวตะวันตก  และในขณะเดียวกันต้องเคลื่อนทหารเพื่อทำการปราบปรามกบฏไถ้ผิง (ไต้เผ็ง)  ในปี ๑๘๕๕  มูราเวียบเริ่มประกาศอย่างโจ่งแจ้งว่าดินแดนทั้งหมดทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำมังกรดำเป็นของรุสเซีย  ในปี ๑๘๕๘  มูราเวียบสามารถบังคับให้จีนทำสนธิสัญญาไอกุน (Treaty  of  Aigun)  ซึ่งตามสนธิสัญญานี้  รุสเซียไม่เพียงแต่จะได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำมังกรดำเท่านั้น  แต่ยังได้สิทธิปกครองเหนือดินแดนชายทะเลตั้งแต่แม่น้ำยูสซูรี่ (Ussuri  River) จนกระทั้งจดทะเลญี่ปุ่นด้วย
                                ในขณะเดียวกัน  พระเจ้าซาร์ได้ส่งทูต พลเรือเอก ปูเตียติน (Admiral  Putiatin) มาประจำอยู่    กรุงปักกิ่ง  เพื่อสดับตรับฟังความเคลื่อนไหวในจีน  และเรียกร้องผลประโยชน์ให้ทัดเทียมกับอังกฤษในกรณีที่อังกฤษได้สิทธิเพิ่มขึ้น  นอกจากนั้นรุสเซียยังต้องการตกลงปัญหาดินแดนแถบแม่น้ำมังกรดำ  รุสเซียได้เข้าร่วมเป็นคู่สนธิสัญญาเทียบสิน  แต่ปูเตียตินไม่สามารถตกลงปัญหาชายแดนกับจีนได้  ในกลางปี ๑๘๕๙  รุสเซียส่งนายพลอกนาเทียบ (General  Ignatiev) มายังกรุงปักกิ่งเพื่อแลกเปลี่ยนเอกสารสนธิสัญญาเทียนสิน  และเจรจาปัญหาดินแดนชายทะเลต่อ  โชคเป็นของอิกนาเทียบ  เมื่ออังกฤษได้ส่งกองทหารเข้ายึดกรุงปักกิ่งในปี ๑๘๖๐  อิกนาเทียบตั้งตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย  และได้ค่าตอบแทน คือ ดินแดน ๓๕๐,๐๐๐ ตารางไมล์เปลี่ยนมาอยู่ใต้ร่มธงของรุสเซีย  ต่อแต่นั้นไปรุสเซียเปลี่ยนทิศทางความสนใจมาอยู่แถบดินแดนเอเชียตอนกลางของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซินเกียง  เริ่มตั้งแต่ปี ๑๘๕๑  รุสเซียได้สิทธิในทางการค้าที่เมืองดุลดยุ (อีลี) และตาบากาไตตามข้อตกลงดุลดยะ  การที่รุสเซียได้แผ่ขยายอิทธิพลของตนไปในดินแดนตอนกลางของเอเชียนี้  ได้ก่อความตื่นตระหนกให้แก่อังกฤษเป็นอย่างยิ่ง  อังกฤษไดเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลจากอินเดียเข้าไปในทิเบต  ความกินแหนงแคลงใจระหว่างมหาอำนาจล่าอาณานิคมทั้ง ๒ ก็ได้ก่อความตึงเครียดยิ่งขึ้นตามลำดับ

การค้าและการลงทุน ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                              จีนกำลังคุกคาม หรือ เป็นตัวกระตุ้น หรือ เป็นอะไรกันแน่ ?
              การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนทำให้เกิดการวิเคราะห์เรื่องบทบาทของจีนต่อ เศรษฐกิจของประเทศเอเชียอื่น ๆ และ ต่อโลกต่างๆ นานา  มีทั้งพวกที่มองในแง่ร้าย และ มองในแง่ดี พวกที่มองในแง่ ร้ายจะมองว่า จีนจะเป็นผู้คุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการแย่งส่วนแบ่งตลาด, ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การมีงานทำ ไปจากประเทศเหล่านี้ และทำให้เกิดความปั่นป่วนในภูมิภาค บางคนก็วิเคราะห์ว่าเนื่องจากจีนมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ตายตัว การมุ่งสร้างเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีอย่างรวดเร็ว เมื่อก้าวไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และ การล่มสลายของระบบการปกครองและเศรษฐกิจของจีน 
                ความแตกต่าง พื้นฐานของนักวิเคราะห์ในทางบวก และ นักวิเคราะห์ในทางลบอยู่ที่ความเข้าใจในพลวัตการปฏิรูปของจีน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า จีนมีปัญหาใหญ่หลายประการ เช่น ระบบธนาคาร และรัฐวิสาหกิจที่ด้อยประสิทธิภาพ , ปัญหาการว่างงาน , คุณภาพประชากรและโครงสร้างพื้นฐาน , ปัญหาการพัฒนาที่ไม่สมดุล ระหว่างภาคต่าง ๆ ภาวะการต้องแข่งขัน กับประเทศอื่น หลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก ฯลฯ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เราควรมองปัญหาและการคลี่คลายในลักษณะพลวัต การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และ ความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลจีนยังคงดำเนินต่อไป  ไม่ได้หยุดนิ่ง ปล่อยให้ปัญหาเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การล่มสลาย  นักวิจารณ์ที่ มองในแง่ลบ  มองว่าทั้งปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจและปัญหาความขุ่นมัว และ ฉ้อฉลของระบบการเมือง คือปัจจัยสำคัญ ที่จะนำจีนไปสู่ความล่มสลาย  และพวกเขาก็เฝ้ามองดูคำพูดและการกระทำของผู้นำจีน ว่าเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ จะนำจีนไปสู่ความล่มสลายหรือไม่ แต่พวกเขาไม่ได้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทางการเมืองสังคม และเศรษฐกิจ กำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งอำนาจบริหารจากส่วนกลางด้วย การเปลี่ยนแปลงจากส่วนอื่น ๆ ในสังคมทั้งภายในจีนเอง และ ระบบเศรษฐกิจโลก จะเป็นตัวกำหนดให้ผู้นำจีนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องด้วย ไม่ใช่ว่าผู้นำจีนจะไม่เปลี่ยนท่าทีเลย
              ตั้งแต่ปี 1980 เศรษฐกิจสังคมจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จากระบบเศรษฐกิจที่แทบไม่ใช้เงิน แต่ใช้คูปอง คะแนนการทำงาน ภูมิหลังทางการเมือง ขนาดและอิทธิพลของหน่วยงานมาเป็นตัวตัดสินใจ ว่าใครควรจะมีเงื่อนไขการดำรงชีวิตอย่างไร มาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบตลาดเป็นตัวตัดสิน จากระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเคยเป็นคนตัดสินว่าประชาชนควรจะมีกิจกรรมทาง เศรษฐกิจอย่างไร และจะได้รับสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตได้อย่างไร  กลายมาเป็นกระบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่เริ่มในปี 1978 ที่ปลดปล่อยประชาชนส่วนใหญ่ให้เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเศรษฐกิจภาคเอกชนได้เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีปัจเจกชนและหน่วยธุรกิจที่ครัวเรือนเป็นเจ้าของหลายร้อยล้านหน่วย กลายเป็นกระดูกสันหลังของการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและร่ำรวยกว่าเก่า
              การเติบโตของ หน่วยธุรกิจภาคเอกชน เป็นส่วนที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ของจีน การที่หน่วยธุรกิจเอกชนมีรายได้และเงินออมมาก ช่วยพยุงให้ภาคธนาคารของรัฐที่อ่อนแอยังคงดำเนินต่อไปได้ รวมทั้งมีโอกาสที่จะปฏิรูปเช่นลดการให้สินเชื่อลงได้โดยไม่พังลงเสียก่อน ธุรกิจภาคเอกชนช่วยรองรับการจ้างงานใหม่และช่วยบรรเทาปัญหาการที่ภาค วิสาหกิจปฏิรูป ด้วยการปลดคนงานออกมาจำนวนมาก ภาคธนาคารเองก็ ได้มีโอกาสได้ขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและชนชั้นกลางใหม่ โดยมีที่ดินค้ำประกัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และทำกำไรให้ธนาคารมากกว่า การปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะรัฐวิสาหกิจแบบเก่า การเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสของประเทศจีน แม้กระนั้นก็ตาม การเมืองก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก เพราะเศรษฐกิจก็ต้องดำเนินไป ภายใต้กฎหมายและสถาบันต่าง ๆ เมื่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเข้มข้นขึ้น ก็จะผลักดันให้สถาบันทางการเมือง ต้องปฏิรูปด้วย  แต่จะปฏิรูปได้อย่างราบรื่น หรือ มีความขัดแย้งที่รุนแรงหรือผันผวนในบางส่วนหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามวิเคราะห์กันต่อไป แต่เราต้องมองว่า การเมืองก็เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน การมองว่า เศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วขณะที่การเมืองหยุดนิ่ง ซึ่งนำไปสู่การพังทลายนั้น จึงเป็นการมองแง่ร้าย อย่างไม่สมจริง  การมองว่าจีน เป็นผู้คุกคามทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียอื่น ๆ อย่างสุดโต่ง อาจเป็นการมองในแง่ร้ายเกินความจริง 
                ในทศวรรษ 1980  ก็มีผู้มองว่า การเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นการคุกคามประเทศเอเชียอื่น ๆ เช่นกัน หรือ ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ 4 เสือของเอเชียในทศวรรษที่แล้วก็เติบโตในอัตราสูงมาก แต่การเติบโตของ ญี่ปุ่น และ ประเทศ 4 เสือ คือ ฮ่องกง, ไต้หวัน , เกาหลี , สิงคโปร์ ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศเอเชียอื่น ๆ ล่มจมแต่อย่างใด ธนาคารเพื่อการลงทุนอย่าง โกลด์แมน แซคส์ วิเคราะห์ว่า  การมองว่าขนาดที่ใหญ่มากของจีน จะแย่งงานแย่งตลาดต่างประเทศไปหมดนั้น เป็นการมองที่มีจุดอ่อน เปรียบเทียบขนาดทางเศรษฐกิจแล้ว จีนยังไม่เป็นยักษ์ใหญ่ถึงขนาดนั้น แม้จีนจะมีประชากรถึง 20% ของประชากรโลก แต่ถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน คิดเป็นเพียง 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน มีสัดส่วนเพียง 4% ของมูลค่าการค้าทั่วทั้งโลก การที่จีนยังมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 900 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ที่ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนา     อุตสาหกรรมหลายสิบเท่า ทำให้จีนยังห่างไกลต่อการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมาก ผลิตภัณฑ์มวล รวมของจีน ยังอยู่ในราว 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่น และยังเล็กกว่าเยอรมันและอังกฤษ ด้วย แม้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนจะสูงว่า GDP  ของจีนเอง  แต่ก็ยังมีมูลค่าต่ำกว่าการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และอยู่ในราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐและสหภาพยุโรปรวมกัน จริงอยู่ที่ว่า ทั้ง GDP และ การค้าระหว่างประเทศของจีนเจริญเติบโตในอัตราสูงกว่า ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม แต่พลังทางเศรษฐกิจไม่ได้วัดจากมูลค่า GDP และการค้าเท่านั้น ต้องดูจากความเข็มแข็งทางการเงินการธนาคารด้วย ซึ่งจีนยังล้าหลัง ประเทศอื่นมากในเรื่องนี้ ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ของจีนเป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ถ้าเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเล็กกว่ายอดรวมของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเอเชียอื่น ๆ   ไม่ต้องเทียบกับตลาดยักษ์ใหญ่ อย่างสหรัฐ และ ยุโรป มูลค่าการแลกเปลี่ยนเงินตราในแต่ละเดือน ของจีนก็เล็กมาก และเงิน หยวน ของจีน  ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีมากกว่าจะเป็นเงินระหว่างประเทศสกุลแข็งได้ (เพราะแม้ว่าเงินหยวนจะมีความเข้มแข็ง แต่ก็มีการควบคุม ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี เหมือน ดอลลาร์ , ยูโร , เยน ฯลฯ ) การที่จีนส่ง ออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งก็คือการลงทุนและการส่งออกของบริษัทข้ามชาติจากประเทศอื่น ทุนและสินค้าขั้นกลางจำนวนมากจากญี่ปุ่นและประเทศอื่น ถูกส่งไปเอเชียโดยเฉพาะประเทศ 4 เสือ ซึ่งส่งต่อชิ้นส่วนไปจีนและประเทศเอเชียอาคเนย์อื่นที่พัฒนาน้อยกว่า   เพื่อประกอบแล้วส่งออกไปสู่ตลาดปลายทางอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของการส่งออกของจีน  ประโยชน์ส่วนหนึ่งก็จะไปตกกับธุรกิจของประเทศในเอเชียอื่น ๆ ด้วยเราจะดูเฉพาะ ตัวเลขการส่งออกของประเทศต่าง ๆ คงไม่เพียงพอ ต้องดูว่าเป็นการลงทุนของใคร วัตถุดิบ , ชิ้นส่วนหรือสินค้าดั้งเดิมมาจากไหนด้วย

การค้าและการลงทุน ไทย – จีน

              การค้าระหว่าง ไทย จีน  ในปี  2002 มีมูลค่า 8.5  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  เพิ่มจากปีก่อนหน้านี้ 21.4%  โดยจีนเป็นฝ่ายสั่งเข้าสินค้าจากไทย มากกว่าส่งออกให้ไทย สำหรับไทย แล้ว จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 4    สำหรับจีนไทยเป็นคู่ค้าใหญ่อับดับที่  14   ปลายปี 2002  โครงการต่าง ๆ ของ ไทยไปลงทุนในจีน มีผลผลิตคิดเป็นมูลค่า 2.5  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  แต่การลงทุนจริง ๆ มี ราว 214  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กระทรวงต่างประเทศจีน)ในปี 2001  โครงการที่จีนยื่นขออนุมัติลงทุนในไทยผ่านการอนุมัติ 12 โครงการ  มูลค่า 8,690.4   ล้านบาท  (กระทรวงพาณิชย์ไทย) 


การต่อสู้ระหว่างหยวนซื่อไข่กับพวกนิยมสาธารณรัฐ

                                พวกนิยมระบอบสาธารณรัฐมุ่งหมายจะให้หยวนซื่อไข่ใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา  โดยดำเนินการปกครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่วางไว้  แต่หยวนเห็นว่า สถาบันและกฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องกีดขวางความเป็นอิสระของตน จึงไม่ใช้เป็นแนวทางบริหารประเทศ  หยวนอาศัยความสนับสนุนจากข้าราชการของรัฐบาลในอดีต  พวกนิยมการปฏิรูปสมัยการปฏิรูป ปี ๑๘๙๘ และพรรคพวกของเขาทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน  หยวนสามารถใช้อำนาจได้อย่างอิสระอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
                                คณะรัฐมนตรีชุดแรกของรัฐบาลในระบอบสาธารณรัฐนั้น  ไม่ได้เป็นเครื่องมือของประธานาธิบดีสมดังหยวนมุ่งหมาย  หยวนเลือกถัง เซ่าอี้ เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเห็นว่าเป็นคนสนิทของตน  ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐยอมรับก็เพราะเห็นว่า ถัง เซ่าอี้  มีท่าทีแสดงความเห็นใจการปฏิวัติ  ซึ่งเห็นได้จากตอนที่เขาเป็นผู้แทนของรัฐบาลปักกิ่งในการเจรจารวมประเทศจีนก่อนหน้านั้น  ถังผู้เคยผ่านการศึกษาในสหรัฐอเมริกา    ไม่ยอมเป็นลูกมือของหยวนดังคณะทหารเป่ยหยาง  รัฐบาลถังต้องประสบปัญหาหลายประการ  ในที่สุดเขาต้องลาออกในเดือนมิถุนายน ๑๙๑๒  เพราะปัญหาการขัดแย้งกันในเรื่องเงินกู้จากต่างประเทศ  และการขัดแย้งกัน          ในการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารในเขตจังหวัดพระนคร  หยวนแต่งตั้งหลูเจิงเสียงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน  เมื่อรัฐสภาไม่ยอมให้ความไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง ๖ นาย ที่ตั้งขึ้นมาแทนรัฐมนตรีที่ลาออกไปตามถัง      หยวนแก้ปัญหาโดยการส่งรายนามรัฐมนตรี ๖ คน ให้สภาชั่วคราว  แล้วใช้กลเม็ดลายครามตามด้วยจดหมายของพรรคพวกขู่จะเอาชีวิตของสมาชิกรัฐสภา  และกุข่าวว่าจะใช้กำลังทหารเข้าบังคับ  รัฐสภาชั่วคราวต้องยอม     หลีกทางให้อำนาจ  แต่หลูอยู่ในตำแหน่งไม่นานก็ต้องมอบอำนาจในการบริหารงานให้แก เจ้าผิงจุน ปฏิบัติราชการแทนด้วยเหตุผลป่วย  ในสุดเดือนกันยายน เจ้าผิงจุนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน (เจ้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ผู้ซึ่งมีประวัติว่าไม่เคยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเลยในสมัยรัฐบาลถัง  โดยให้เหตุผลว่าเรื่องที่พิจารณาไม่เกี่ยวกับกระทรวงของตนนั้นทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเลขาธิการ                       ของประธานาธิบดี)  ฐานะของหยวนมีความมั่นคง  เพราะว่าเขาสามารถบังคับฝ่ายทหารโดยผ่านคณะเสนาธิการทหาร กระทรวงทหารบกและกระทรวงทหารเรือซึ่งอยู่ในกำมือของนักการทหารตลอดมานั้นได้  นอกจากนั้นเขายังได้จัดตั้งสำนักบัญชาการทหารสูงสุดภายในสำนักงานของเขาอีกด้วย
                                หยวนมีข้อผูกพันตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภานิติบัญญัติในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๑๙๑๒  รัฐบาลได้ออกกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ  กฎหมายนี้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก ๒ ประเภท คือ สมาชิกวุฒิสภา (ซันอี้หยวน)  มีจำนวน ๒๗๔ คน  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (จุ้งอี้หยวน)  มีจำนวน ๕๙๖ คน  ให้สมาชิกวุฒิสภาได้รับการคัดเลือกทางอ้อมโดยสภาจังหวัด  และให้อยู่ในตำแหน่งครั้งละ ๖ ปี  โดยที่ ๑/๓ ของสมาชิกผลัดกันออกทุก ๆ ๒ ปี ให้สมาชิกสภาผู้แทนได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎรตามหลักอัตราส่วน (Proportional  Representation) และให้สมาชิกอยู่ในตำแหน่งครั้งละ ๓ ปี
                                เพื่อเป็นการต้อนรับรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย  ซุนและพรรคพวกของเขา วางจิงวุ่ย  หูฮั่นหมิน  หวงซิง  และสุ้ง เจี้ยวเหยิน  ได้เปลี่ยนชื่อของสมาคมถุงเหมิงซึ่งเป็นสมาคมลับนั้นรวมกับพรรคการเมืองย่อย ๆ อีกหลายพรรค  แล้วขนานนามขึ้นเป็นพรรคการเมืองเรียกว่าก๊กมินตั๋ง (พรรคประชาชน) ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๑๙๑๒  ซุนและหวงซิงไม่มีลักษณะเหมือนกับโอกุมาและอีตางากิของญี่ปุ่น  ผู้นำในการต่อสู้     เพื่อหลักการประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา  ซุนและหวงไม่ให้ความสนใจระบบรัฐสภา  แต่อุทิศชีวิตของตนไปในการเร่งรัดพัฒนาการศึกษาและการอุตสาหกรรม  โดยหวังจะถือเป็นรากฐานความมั่นคงของชาติสืบไป  ซุนเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการถไฟในกลางปี ๑๙๑๒  พร้อมด้วยมีอำนาจเต็มในหารกจัดระเบียบและแก้ไขระบบการรถไฟทั่วประเทศ  รวมทั้งอำนาจในการกู้เงินจากต่างประเทศ  เขาประกาศนโยบายออกมาว่าจะสร้าง         ทางรถไฟให้ยาวถึง ๒๐๐,๐๐๐ ไมล์ คนส่วนมากจึงพากันขนานนามให้ว่า ซุนขี้โม้ (ซุนต้าเผ้า)  อย่างไรก็ตาม       เขามีความสุจริตในการที่จะปรับปรุงประเทศจีนให้ทันสมัยและคิดว่าการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศหวงซิงปลดทหารภายใต้การบังคับบัญชาของเขาภายหลังที่รัฐบาลได้รวมไปอยู่ภายใต้การนำของหยวนแล้ว  ทั้งนี้เพราะเขามองเห็นว่ารัฐบาลแห่งชาติ  ธนาคารแห่งชาติจะไม่จ่ายเงินและให้กู้เงินสำหรับบำรุงกองทหารต่อไป  จึงปลดทหารโดยปราศจากการจ่ายเงินเดือนเพื่อแสดงความรักชาติและความจงรักภักดีต่อรัฐบาลสาธารณรัฐ  ต่อมาเขาได้รับตำแหน่งผู้ควบคุมการเหมืองแร่และ              การก่อสร้างทางรถไฟสายกวางตุ้ง ฮั่นโข่ว  เหลือแต่สุ้ง  เจี้ยวเหยิน  ซึ่งยังมีความทะเยอทะยานที่จะแสวงหาอำนาจทางรัฐสภาเพื่อจำกัดอำนาจหยวนซื่อไข่
                                ชัยชนะในการเลือกตั้งของก๊กมินตั๋ง  พร่าชีวิตของสุ้งเจี้ยวเหยินในการเลือกตั้ง  เดือนธันวาคม ๑๙๑๒  ปรากฏว่าก๊กมินตั๋งได้รับเลือกตั้ง ๑๒๓ ที่นั่งในจำนวน ๒๗๔ ที่นั่งของวุฒิสภา และ ๒๖๙ ในจำนวน ๒๙๖ ของสมาชิกสภาผู้แทน  สุ้ง เจี้ยวเหยิน ผู้ซึ่งประกาศหาเสียงในที่ต่าง ๆ ว่า  ต้องการจะให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาควบคุมรัฐบาล ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๑๙๑๓  เขาถูกฆาตกรรมที่สถานีรถไฟเมืองเซี่ยงไฮ้  ผลจากการสอบสวนปรากฏว่า ฆาตกรถูกว่าจ้างโดยนายกรัฐมนตรี เจ้าผิงจุน และมีส่วนพัวพันถึงประธานาธิบดีหยวนซื่อไข่ด้วย
                                การตายของสุ้ง  เจี้ยวเหยิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการป่าไม้  เพิ่มความดุเดือดของลูกพรรคก๊กมินตั๋งยิ่งขึ้น  รัฐสภาทำการคัดค้านหยวนในปัญหาการกู้เงินต่างประเทศอย่างหนักหน่วง
                                การขาดแคลนการเงินเป็นปัญหาหนักสำหรับการรักษาอำนาจของหยวน  รัฐบาลของเขาต้องแสวงหาเงินกู้จากต่างประเทศอยู่เนือง ๆ  เงินคงคลังไม่มีเหลือ  เงินภาษีที่เก็บได้ก็ลดน้อยลงตามลำดับ  รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐในการเก็บภาษีส่วนมากมาจากภาษีศุลกากรที่จัดเก็บโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรต่างประเทศ  นอกนั้นถูกจัดสรรไปบำรุงส่วนท้องถิ่น  หยวนเห็นไม่มีทางที่จะปฏิบัติตามภาระผูกพันที่มีต่อต่างประเทศ       และค่าใช้จ่ายในราชการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการทหาร  ซึ่งเขาต้องการเพิ่มเพื่อต้อนรับกับการปฏิวัติที่อาจจะเกิดขึ้นในระลอกใหม่  ภายหลังการเปิดเผยการฆาตกรรมสุ้ง เจี้ยวเหยินแล้ว
                                หลังจากที่ได้เงินกู้จากภาคีธนาคาร ในเดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๑๒ และได้รับเงินกู้ล่วงหน้าเป็น                   ส่วนหนึ่งแล้ว  หยวนปรารถนาที่จะกู้เงินจำนวนเพิ่มเติมโดยจะไม่อาศัยอำนาจรัฐสภา และในวันที่ ๒๖ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการเปิดเผยกรณีฆาตกรรมสุ้ง  หยวนสามารถเซ็นสัญญากู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนเงินถึง ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์
                                เจ้าหนี้เงินกู้ต่างพอใจในการให้เงินหยวน  ในเมื่อตนได้เข้ามีส่วนร่วมในการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของจีน  ญี่ปุ่น และรุสเซีย  ผู้ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมในภาคีธนาคารแล้วนั้นมีข้อเรียกร้องพิเศษ  ญี่ปุ่นตั้งเงื่อนไขในการให้กู้เงินว่า  จีนจะต้องไม่ทำประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียสิทธิพิเศษของญี่ปุ่นในแมนจูเรียและทิศตะวันออกของมองโกเลียใน  ส่วนรุสเซียตั้งข้อเรียกร้องว่า สิทธิของตนในแมนจูเรีย  มองโกเลีย  และจีนตะวันตกจะได้รับการคุ้มครอง  นอกจากนั้นให้รัฐบาลจีนเชิญชาวอังกฤษหนึ่งคนเป็นผู้ควบคุมภาษีเกลือและมีชาวเยอรมันคนหนึ่งเป็นผู้ช่วย  ในสำนักงานเงินกู้ต่างประเทศให้จ้างชาวรุสเซียหนึ่งคนเป็นผู้อำนวยการ  และให้มีชาวฝรั่งเศสและรุสเซียสัญชาติละหนึ่งคนเป็นที่ปรึกษา  ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นว่าเงื่อนไขในการให้เงินกู้    เป็นการทำลายความเป็นเอกภาพในราชการบริหารของจีน  ประธานาธิบดี วูดโร  วิลสัน (Woodrow  Wilson)      จึงมีคำสั่งให้ธนาคารของสหรัฐถอนตัวออกจาภาคีธนาคาร  ถ้าหากไม่เกิดกรณีฆาตกรรมสุ้ง  หยวนก็คงไม่รับเงิน     ไปอย่างเสียเปรียบเช่นนั้น
                                หยวนต้องเผชิญกับรัฐสภาที่เลือกตั้งใหม่ในปัญหาเงินกู้  เมื่อสภาทั้ง ๒ ได้เปิดประชุมในวันที่ ๘ เมษายน ๑๙๑๓  ก็ตั้งข้อแย้งว่าเงินกู้นั้นมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพราะมิได้รับอนุมัติจากรัฐสภา  หยวนค้านว่า เงินกู้จากต่างประเทศนั้นได้รับอนุมัติจากรัฐสภาชั่วคราวแล้ว  ซึ่งก็เป็นความจริง  แต่หยวนได้มติมาด้วยวิธีการขู่และให้สินบนแก่สมาชิกสภาชั่วคราว  ภายหลังที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ตามพิธีการแล้ว  เสียงต่อต้านในรัฐสภาเป็นไปอย่างเผ็ดร้อนและการประชุมปราศจากความเป็นระเบียบ  วุฒิสภาได้มีมติ           ด้วยคะแนนเสียง ๑๐๗ ต่อ ๖๔ ว่า การเซ็นสัญญาเงินกู้ของรัฐบาลโดยปราศจากการส่งข้อเสนอการกู้เงินไปให้รัฐสภาพิจารณาให้ความอนุมัตินั้น มิชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  ฉะนั้นให้ถือว่าสัญญากู้เงินนั้น        เป็นโมฆะ  มติเช่นเดียวกันได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียง ๒๒๓ ต่อ ๑๔๓  ซุนยัดเซ็นพยายามจะยับยั้งสัญญากู้เงินนี้โดยการส่งโทรเลขไปกรุงลอนดอน  เพื่อขอให้ใช้อิทธิพลชักจูงธนาคารของห้ามหาอำนาจยกเลิกสัญญากู้เงินครั้งนี้  แต่ไม่ได้ผล  ตรงกันข้ามในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ภาคีธนาคารให้เงินกู้แก่หยวนมากกว่าสัญญาเดิมเสียอีก

การปฏิรูปก๊กมินตั๋ง

งานจัดระบบพรรคใหม่โดยเปลี่ยนจากพรรคปฏิวัติสาธารณรัฐจีน  มาเป็นพรรคประชาชนจีน  ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม  ๑๙๒๓  และสำเร็จลุล่วงได้ในปี  ๑๙๒๔   นั้น  เป็นผลการขยายอิทธิพลของการปฏิวัติสหภาพโซเวียต  ปี  ๑๙๑๗  และชนชั้นปัญญาชนซึ่งมีศูนย์รวมอยู่ที่นักเรียนและนักศึกษา


การปฏิรูปภายใต้การนำของชาวแมนจู สามขบวน

                                ขบวนการปฏิรูปนั้นอาจแบ่งได้เป็น สามระลอก  ระลอกแรกนำโดย  คังอิ่วหวุย ภายใต้ความอุปถัมภ์ของจักรพรรดิหนุ่ม  กวางซวี่ ผู้ซึ่งพยายามจะปลดแอกจากการบงการของพระราชชนนี ฉือซี  เพื่อกอบกู้ประเทศของตน  ในปี ๑๘๙๘  คังอิ่วหวุยได้สามารถชักจูงกให้จักรพรรคิด กวาง  ซวี่  ออกพระบรมราชโองการเกี่ยวกับการปฏิรูปในทางการบริหารและการศึกษามากมาย  การปฏิรูปภายใต้การนำของคังได้ดำเนินการคึกคักไปได้ ๓ เดือนเศษ  ก็ต้องถูกพวกถอยหลังเข้าคลองทำลายโครงการตามพระบรมราชโองการนั้นหมดสิ้น  การปฏิรูปนำโดยคังนี้ต่อมาได้รับขนานนามว่า  การปฏิรูปร้อยวัน (Hundred  days  Reform)
                                การปฏิรูปตามแผนการของคังนั้นมีขอบเขตอย่างกว้างขวาง  เริ่มตั้งแต่กลางปี ๑๘๙๘ คังและพรรคพวกได้เริ่มประกาศยกเลิกองค์การบริหารที่ไร้ประโยชน์เสียสิ้น  กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดราชการทหารแห่งชาติได้รับการแก้ไขให้ทันสมัยยิ่งขึ้น  ระบบการสอบแข่งขันข้าราชการพลเรือนได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย  เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ในด้านวิชาการสมัยใหม่เข้ารับราชการ  พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ    ให้จัดตั้งราชมหาวิทยาลัย ณ กรุงปักกิ่ง  ซึ่งจะให้มีการสอนศิลปะและวิชาการของฝ่ายตะวันตก  นอกจากนั้น คังได้สนับสนุนการพัฒนาการค้า  การอุตสาหกรรม  การคมนาคม  และกระชับสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศให้ดีขึ้น  พิจารณาดูตามแผนการแล้วก็เหมาะสมกับเหตุการณ์อยู่มาก  ถ้าหากได้มีการปฏิบัติจริงจังจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของระบบการบริหาร  และอาจจะเป็นการต่ออายุของราชวงศ์แมนจูต่อไปอีก  แต่พวกถอยหลังเข้าคลองในพระราชสำนักแมนจู  ภายใต้ปลายนิ้วมือของพระราชชนนี ฉือซี ได้เข้ายึดอำนาจ  คนชั้นนำในการปฏิรูปหลายคนได้ถูกสังหาร  คังอิ่วหวุยและเหลียงฉี่เชาได้หนีเอาชีวิตรอดไปอยู่ญี่ปุ่น  จักรพรรดิ         กวาง  ซวี่  ถูกจับเข้าที่จำขัง  หยุ่งลู่และหยวนซื่อไข่  ผู้มีความดีความชอบในการยึดอำนาจได้เป็นกำลังในรัฐบาลภายใต้ปลายนิ้วมือของพระราชชนนี ฉือซี อีกต่อไป
                                เมื่อพวกปฏิรูปถูกกำจัดไป  และเมื่อกบฏมวย (Boxer  Rebellion, 1900)  ได้แสดงความบ้าบิ่นต่อชาวโลกจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า  จีนไม่อาจจะขับไล่ผู้รุกรานออกไปจากผืนแผ่นดินโดยพละกำลังได้แล้ว  พวกถอยหลังเข้าคลองเองก็จำต้องมาตั้งต้นดำเนินการปฏิรูปใหม่  แต่เป็นที่เห็นได้ว่า  พวกนี้กระทำไปเพื่อที่จะรักษาอำนาจของตนเท่านั้น  โดยมุ่งหวังว่าการกระทำของตนจะเป็นการลดเพลาน้ำเสียงเรียกร้องการปฏิวัติ       เพื่อโค่นล้มรัฐบาลแมนจูที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ  พวกนี้ไม่ได้ส่อให้เห็นว่าจะสามารถพาประเทศจีนให้ก้าวไปข้างหน้าได้เลย  ถ้าจะพิจารณาทั้งในด้านสติปัญญาและน้ำใจของผู้นำ
                                กระแสคลื่นก่อการปฏิรูปครั้งที่ ๒ ได้เริ่มขึ้นในปี ๑๙๐๑  หลังจากที่มหาอำนาจตะวันตก  รวมทั้งญี่ปุ่น  ได้ช่วยกันทำลายและเผาผลาญพระราชวังและห้องสมุดของราชวงศ์แมนจู  และจีนต้องถูกชดใช้กรรมของการกระทำตามเคยแล้ว  พระราชชนนี ฉือซี ก็ได้ชี้มือให้ผู้ที่จงรักภักดีต่อพระนางจัดการพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตกต่อไป  ระบบการสอบแข่งขันข้าราชการที่ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานแล้วก็ได้สั่งยกเลิก  แผนการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศก็ได้เริ่มขึ้น  ซึ่งส่วนมากไปเรียนที่ญี่ปุ่น  ขั้นต่อไปก็มีการจัดตั้งโรงเรียนสมัยใหม่ขึ้น  อย่างไรก็ตาม  การปฏิรูปแบบเฉื่อยชาเช่นนี้หามีผลสั่นคลอนโครงร่างอันมั่นคงของสังคมจีนได้ไม่  ในทางตรงกันข้าม  เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่ฝ่ายก่อการปฏิวัติ  ซึ่งในขณะนั้นซุนยัดเซ็นได้ผุดขึ้นมาเป็นผู้นำของขบวนการปฏิวัติภายนอกผืนแผ่นดินจีนแล้ว  แม้ว่าพระราชสำนักจีนจะได้พยายามส่งผู้คนไปกำจัดซุน  แต่เขาก็สามารถปรากฏตัวและดำดินได้ถูกจังหวัดรอดพ้นมาได้ราวกับปาฏิหาริย์
                               

การปฏิรูปสมัยแมนจูเป็นคลื่นระลอกที่สาม

                                ญี่ปุ่นชนะรัสเซีย  ในสงครามรุสเซีย ญี่ปุ่น  ปี ๑๙๐๔ ๑๙๐๕ เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดกระแสคลื่นลูกใหม่ไปกระทบพระราชสำนักแมนจู  เช่นเดียวกับการปฏิรูปครั้งก่อนที่จะต้องมีกำลังภายนอกมาผลักดัน  ความคิดที่จะก่อการปฏิรูปจึงจะเกิดขึ้น  และขบวนการปฏิรูปก็มีอยู่ได้ไม่ยั่งยืน  และต้องสูญสลายไปด้วยเหตุต่าง ๆ กัน  การปฏิรูปครั้งนี้นับเป็นความพยายามของ พระราชชนนี ฉือซี ครั้งสุดท้าย  ก่อนที่พระนางจะได้หายไปจากเวทีการเมืองด้วยเหตุชราภาพ  ในปี ๑๙๐๘ ผู้นำในการปฏิรูปครั้งนี้มิได้แตกต่างไปจากคราวที่แล้วในส่วนตัวบุคคลเท่าไรนัก  แต่ในด้าวความคิด ปรากฏว่า     พวกนี้เริ่มมองเห็นความดีของสังคมและสถาบันตะวันตกมากขึ้น  กล่าวโดยเฉพาะก็คือ เขาเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางปกครองประเทศ เป็นพลังทำให้ญี่ปุ่นเอาชนะการปกครองแบบเผด็จการของรุสเซียได้
                                กล่าวโดยสรุป  การปฏิรูปโดยพระราชสำนักแมนจูในปี ๑๙๐๕ ๑๙๑๑ มีสาระที่สำคัญ คือ     การจัดร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีการดำเนินการโดยย่อดังนี้
                                (๑)  ในด้านค้นคว้า  รัฐบาลได้ส่งคนออกไปดูงานเกี่ยวกับรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ ๒ คณะ ในปี ๑๙๐๕ และ ๑๙๐๗ ชุดแรก ประกอบด้วย ขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่  แหล่งดูงานของกรรมการคณะนี้ ได้แก่  ญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  และประเทศต่าง ๆ ในยุโรป  พวกนี้มีความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมากที่สุด  ส่วนคณะที่ ๒ นั้นประกอบด้วย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่น้อยกว่าชุดแรก              และประเทศที่พวกนี้ได้ผ่านการดูงานก็จำกัดเฉพาะ ญี่ปุ่น  อังกฤษ  เยอรมัน  เช่นเดียวกันพวกนี้ให้ความเห็นว่า  ระบอบรัฐธรรมนูญตามที่ใช้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น  และรัฐธรรมนูญรัสเซียเท่านั้นที่เหมาะสมกับสังคมจีนที่สุด
                                (๒) จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น  ในปี ๑๙๐๕ เพื่อเป็นองค์การสำหรับเตรียมการร่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญ  นับว่าเป็นการเลียนแบบญี่ปุ่นในการจัดร่างรัฐธรรมนูญเมย์จิ
                                (๓) ได้ปรับปรุงหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง ในปี ๑๙๐๖ และ ๑๙๑๑ ตามแบบแผนตะวันตก  ในการปรับปรุงหน่วยราชการบริหารส่วนกลางเป็นครั้งแรกนั้น  มิได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแต่ประการใด  กระทรวงทั้ง ๖ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังนั้นได้เปลี่ยนเป็น ๑๐ กระทรวง  และบางกระทรวง  ตำแหน่งได้เปลี่ยนชื่อไป  แต่พนักงานและตัวรัฐมนตรียังคงใช้คนจำพวกเดิม  พวกแมนจูยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในองค์การรัฐบาล  ส่วนการปรับปรุงครั้งที่ ๒ นั้นมีลักษณะก้าวไปไกลกว่าครั้งแรก  แต่เป็นการล่าช้าเกินไปที่จะยับยั้งกำลังฝ่ายปฏิวัติได้
                                (๔) ได้ประกาศใช้หลักการรัฐธรรมนูญในปี ๑๙๐๘ โดยให้สัญญาว่า จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรในปี ๑๙๑๖ ต่อมาได้ประกาศสัญญาว่าจะประกาศใช้ในปลายปี ๑๙๑๓
                                หลังจากถูกกดดันโดยขบวนก่อการปฏิวัติในปี ๑๙๑๑  พระราชสำนักได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  ซึ่งประกอบด้วย ๑๙ มาตรา  ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้  กำหนดให้จัดตั้งรัฐบาลในระบบรัฐสภา  โดยให้จัดตั้งรัฐสภาขึ้นอย่างรีบด่วน  เพื่อจะผูกใจประชาชนและตัดกำลังฝ่ายปฏิวัติ  หยวนซื่อไข่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งขึ้น  และหยวนได้ใช้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีนี่เองเป็นเครื่องต่อรองกับฝ่ายปฏิวัติ
                                (๕) การประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง  และการจัดตั้งสภาส่วนจังหวัดและสภาแห่งชาติหลายฉบับในปี ๑๙๐๘ ๑๙๑๑ สิทธิของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยสภา         ส่วนจังหวัดนั้นจำกัดอยู่แต่ในวงแคบ  คุณสมบัติที่สำคัญของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะต้องเป็นผู้ได้รับการศึกษาหรือมีหลักทรัพย์หรือเป็นข้าราชการเป็นต้น  อำนาจของสภาจังหวัดก็อยู่ในวงแคบมาก  ข้าหลวงตรวจการและผู้ว่าราชการมณฑลมีสิทธิที่จะเสนอดความเห็นไปยังรัฐบาลกลางให้มีการยุบสภาได้  เมื่อตอนที่ราชบัลลังก์ถูกโค่นล้มนั้น  ปรากฏว่าได้มีสภาตามกฎหมายว่าด้วยการนี้ตั้งขึ้นรวม ๑๗ จังหวัด
                                สภาแห่งชาติได้มีการประชุมครั้งแรกในเดือนตุลาคม ๑๙๑๐  สภานี้ประกอบด้วย สมาชิกทั้งหมด ๒๐๐ คน  ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกสภาจังหวัดและโดยสภาจังหวัด  อีกครึ่งหนึ่งได้รับเลือกตั้งจากพระมหาจักรพรรดิ  จากขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านความรู้เป็นพิเศษและผู้ที่เสียภาษีมากเป็นพิเศษ  สภาแห่งชาติมีอำนาจในการออกกฎหมายและควบคุมงบประมาณแผ่นดิน  ภายใต้การแซงค์ชั่นของจักรพรรดิ  ในปีแรกรัฐบาลมิได้ยึดถือกฎหมายทั่วไปและกฎหมายงบประมาณเป็นหลักในการปฏิบัติราชการแต่ประการใด  แต่ในวินาทีที่คณะปฏิวัติกำลังจะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จนั้น  ปรากฏว่ารัฐสภาเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้น
                                การปฏิรูปครั้งนี้  รัฐบาลแมนจูเลียนแบบรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลปรัสเซีย  โดยหวังที่จะกำอำนาจไว้ในกลุ่มพรรคพวกของตัว  แตกต่างกับหลักการประชาธิปไตยตามความเข้าใจของชาวตะวันตก   พระมหาจักรพรรดิของจีนยังคงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งรัฐเช่นเดียวกับหลักการในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นและรัฐบาลปรัสเซียในสมัยนั้น  นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้พยายามรวมอำนาจการบริหารพลเรือนและการทหารซึ่งไม่อาจแบ่งแยกกันได้อย่างเด็ดขาด  และมีฐานะอยู่ค่อนข้างอิสระจากรัฐบาลกลางนั้นมาอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรพรรดิ  การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  แม้จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน  สิทธิเลือกตั้งของประชาชนก็ได้จำกัดอยู่ในชนส่วนน้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดในเรื่องทรัพย์สินนั้นนับวาได้ตัดสิทธิของคนเป็นจำนวนมาก  แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนมีความรู้พอสมควรก็ตาม  หลักการนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า หลักตาลอกแบบมาจากญี่ปุ่นและปรัสเซียเช่นเดียวกัน  ในการเลือกตั้งสภาจังหวัดครั้งแรก ปี ๑๙๐๙  ปรากฏว่าในมณฑล    ซันตุงมีชายผู้มีสิทธิออกเสียงเพียง ๑๑๙,๕๔๙ คน ในจำนวนพลเมืองทั้งหมด ๓๘,๐๐๐,๐๐ คน ในมณฑลหูเป่ย ๑๑๓,๒๓๓ คน ในจำนวนพลเมืองทั้งหมด ๓๔,๐๐๐,๐๐๐ คน
                                ตามที่กล่าวมาแล้วอาจจะทำให้เราคาดคะเนว่า  ถ้าหากปล่อยให้รัฐบาลแมนจูดำเนินการต่อไปโดยไม่มีการปฏิวัติ  ประเทศจีนอาจจะเจริญก้าวหน้าไปในแนวเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและปรัสเซียได้  แม้ว่าสมมติฐานข้อนี้อาจจะเป็นไปได้  แต่การรักษาฐานความเป็นเจ้าเหนือหัวของราชวงศ์แมนจูนั้นเป็นการยาก  นั่นก็คือเป็นปัญหาของจีน  โดยเฉพาะที่ยังมีการแบ่งเป็นจีนแท้และชาวแมนจู  แมนจูซึ่งเป็นคนส่วนน้อยยังพยายามจะหวงอำนาจไว้ให้แก่พวกของตัวราชการบริหารภายหลังการปฏิรูปเปลี่ยนระบบความมีฐานะเท่าเทียมกัน  ระหว่างคนจีนและคนแมนจู  มาให้ความลำเอียงแก่คนแมนจู  ในตำแหน่งรัฐมนตรี ๑๓ ตำแหน่ง ให้คนจีนได้รับเพียง ๕ ตำแหน่ง การปฏิรูปทางการบริหารจึงอาจถือได้ว่าเป็นชัยชนะของชาวแมนจู  แต่เป็นการพ่ายแพ้ของ    คนจีน  จึงเป็นการยกที่จะให้ชาวจีนซึ่งมีจำนวนท่วมท้นนั้นสนับสนุนรัฐบาลปฏิรูปต่อไป  ความจริงการปฏิรูปโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาอำนาจต่อไปเช่นนี้  ในระหว่างที่ชาวจีนกำลังก่อหวอดปฏิวัติอยู่ทั่วไปนั้น  เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไม่พยายามเกลี้ยกล่อมเพื่อดึงดูดความจงรักภักดีจากประชาชน  การปฏิบัติของรัฐบาล      ในการปฏิรูปจึงส่งเสริมกำลังให้ฝ่ายปฏิวัติเข้มแข็งขึ้น


การปฏิวัติกับการปฏิรูป

                                เมื่อคณะก่อการปฏิวัติได้มีโครงการและองค์การดำเนินงานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  การโต้คารม (สงครามปากกา) กันระหว่างกลุ่มนิยมการปฏิรูปกับกลุ่มสนับสนุนญี่ปุ่น  ฮ่องกง  ฮาวาย   ซานฟรานซิสโก  ล้วนแต่มีหนังสือพิมพ์ปากเสียงของ ๒ คณะโต้แย้งซึ่งกันและกัน  ฝ่ายนิยมการปฏิรูปแม้จะมีเหลียงซึ่งเป็นนักเขียนชั้นหนึ่งของประเทศจีนในขณะนั้นเป็นผู้อุปถัมภ์  แต่เหลียงเองมีจิตใจไม่แน่วแน่ที่จะสนับสนุนราชวงศ์แมนจูดังคัง  อีกประการหนึ่งความเสื่อมโทรมของราชวงศ์แมนจูเป็นการยากที่จะให้เขา  เสาะแสวงข้อดีของระบบพระมหากษัตริย์มาขักจูงใจผู้อ่านได้  นอกจากนั้นการใช้กำลังเข้าปฏิบัติการของพวก ก่อการปฏิวัติโดยการก่อการกบฏขึ้นเนือง ๆ ยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่พวกก่อการปฏิวัติได้  พวกก่อการปฏิวัติได้พยายามแทรกแซงเข้าไปในหน่วยทหารของรัฐบาลแมนจูด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทหารตามแผนใหม่  ซึ่งนายทหารมักแต่งตั้งมาจากนักเรียนทหารที่จบจากญี่ปุ่น

การปฏิวัติ สิบ ตุลาคม

                                นับตั้งแต่ซุนเริ่มก่อการปฏิวัติเป็นต้นมา  กบฏได้เกิดขึ้นชุกชุมในตอนใต้     ของประเทศจีน  เมื่อจักรพรรดิกวางซวี่และพระราชชนนีฉือซีสวรรคตแล้ว  ผู้สืบราชสมบัติต่อ ณ เมืองปักกิ่งย่อมสะดุ้งสะเทือนต่อสถานการณ์อันล่อแหลมเช่นนั้น  รัฐบาลส่วนภูมิภาคได้รับคำสั่งให้รักษาความสงบอย่างกวดขัน  แต่ชะตาของราชวงศ์แมนจูจะถึงซึ่งความหายนะ  การป้องกันไม่ได้ผล  เฉพาะปี ๑๙๐๘ ๑๐ ตุลาคม ๑๙๑๑ ปรากฏว่ามีกบฏที่สำคัญเกิดขึ้น ๔ ครั้ง  คือ  กบฏอันจิงในมณฑลอันฮุยในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๐๘       การจลาจลในกองทหาร    เมืองกวางตุ้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๑๐  การพยายามปลงพระชนม์ผู้สำเร็จราชการไจ้เฟิงไดย วางจิงวุ้ย ในเดือนมีนาคม ๑๙๑๐  และในที่สุดการกบฏอันเศร้าสลด ณ เมืองกวางตุ้งในวันที่          ๒๗ เมษายน ๑๙๑๑  นำโดยหวงซิง ในคราวนี้ฝ่ายกบฏได้รับความเสียหายอย่างหนักเสียสมาชิกชั้นหัวกะทิถึง ๗๒ คน  แม้ว่าการล้มเหลวครั้งนี้จะใหญ่หลวง  แต่วิญญาณของ ๗๒ วีรชนได้เข้าสิงจิตใจประชาชนชาวจีน        ให้ตื่นขึ้นมาเลือกเดินทางตามซุนยัดเซ็น  ดีกว่าที่จะยังหลงงมงายต่อความหวังที่จะได้รัฐบาลโดยมี                  พระมหาจักรพรรดิอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ  นับว่าเป็นการถางทางให้การปฏิวัติครั้งต่อไป
                                การฟื้นตัวอันรวดเร็วจากการปราชัยในการกบฏ วันที่ ๒๗ เมษายน ของคณะก่อการปฏิวัตินั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการโอนกิจกรรมการเดินรถไฟเป็นของชาติ  ในเขตมณฑลเสฉวน (ซื่อชวน) และ    หูเป่ย  นักธุรกิจจีนที่มั่งคั่งในแถบนี้ได้ลงทุนเป็นจำนวนมากในกิจการเดินรถไฟสายเสฉวน ฮั่นโข่ว  กวางโจว ฮั่นโข่ว  ในขณะนั้นรัฐบาลต้องการเงินกู้จากภาคีธนาคาร (consortium) ที่สหรัฐ  อังกฤษ  ฝรั่งเศส และเยอมันถือหุ้น  เนื่องจากภาคีธนาคารนี้มีนโยบายที่จะกีดกันการรุกรานทางเศรษฐกิจของรุสเซียและญี่ปุ่น  ปักกิ่งจึงต่อรองด้วยการจะโอนกิจกรรมรถไฟดังกล่าวไปเป็นของชาติ  เพื่อเป็นการป้องกันการขยายกิจการรถไฟโดยบริษัทเอกชนให้แก่บริษัทญี่ปุ่น  คำสั่งโอนกิจกรรมการรถไฟดังกล่าวไปเป็นของชาติได้ออกประกาศในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม  ๑๙๑๑  ประชาชนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง  เสฉวน  หูเป่ย  และหูหนัน  ได้ก่อตั้งสมาคมต่อต้านคำสั่งของรัฐบาล  การปะทรวงได้แสดงออกทั้งในรูปสงบ  เช่น  การส่งคำร้องเรียนไปยังรัฐบาลปักกิ่ง  และในรูปเลือดร้อน  เช่น  การเดินขบวน  แต่ไม่ได้ผลเพราะรัฐบาลใช้กำลัง          เข้าปราบปราม
                                การประท้วงคำสั่งการโอนกิจกรรมรถไฟเป็นของชาติ  ได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขันเพราะ      ผู้มีหุ้นอยู่ในการเดินรถล้วนแต่เป็นผู้มั่งคั่งและทรงอิทธิพล นอกจากนั้นย่อมเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นการยุยงส่งเสริมของคณะก่อการปฏิวัติ  เพราะพวกนี้สงสัยเจตนาของเจ้าหนี้  คือภาคีธนาคารไม่น้อยกว่าที่เจ้าของภาคีธนาคารระแวงการแทรกแซงเศรษฐกิจของจีนโดยญี่ปุ่นและรุสเซีย  การร่วมงานกันครั้งนี้ระหว่างคณะก่อการปฏิวัติกับบรรดาพ่อค้า  นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของคณะก่อการปฏิวัติ  ในขณะเดียวกันคณะนิยมการปฏิรูป       ที่พยายามเอาใจนักธุรกิจด้วยการใช้วิธีอ่อนโยน  โดยการเสนอคำร้องเรียนนั้นก็ย่อมได้รับความผิดหวัง  อาศัยเหตุการณ์เฉพาะหน้าเหล่านี้  ฤกษ์ยามก่อการปฏิวัติของคณะก่อการปฏิวัติจึงได้มาตรงกับวันที่สิบ เดือนสิบ
                                คณะปฏิวัติได้เลือกเอาเมืองอู่ชัง  อันเป็นที่ตั้งอำเภอเมืองของจังหวัดหูเป่ยเป็นสถานที่ก่อการปฏิวัติ  ประชาชนในเขตนี้มีความแค้นเคืองรัฐบาลในวิกฤติการณ์การโอนกิจกรรมรถไฟมาก  การปฏิวัติได้รับความสำเร็จอย่างบังเอิญ  โดยที่ข้าหลวงตรวจการและผู้บัญชาการทหารขาดความเข้มแข็ง  หนีออกจากเมืองก่อนที่จะประมาณกำลังของข้าศึก  หลังจากยึดได้เมืองอู่ชังแล้ว  เมืองฮั่นหยางและฮั่นโข่วก็ตกมาอยู่ภายใต้      การยึดครองของคณะก่อการปฏิวัติอย่างรวดเร็ว  คณะก่อการปฏิวัติมอบอำนาจการบังคับบัญชาการทหารให้แก่นายพลจัตวาหลี่หยวนหูง  ผู้ซึ่งถูกสงสัยว่าคงรู้เห็นเป็นใจด้วยกันกับคณะก่อการปฏิวัติ  การปฏิวัติได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว  การแทรกแซงของคณะก่อการปฏิวัติเข้าไปในกลุ่มทหารช่วยให้การดำเนินงานเป็นผลสำเร็จ   เร็วยิ่งขึ้น  จนกระทั่งปลายปี ๑๙๑๑  ปรากฏว่าดินแดนตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกือบทุกจังหวัด  รวมตลอดถึงดินแดนตอนเหนือแม่น้ำแยงซีบางจังหวัด เช่น สั่นซี และ ซันซี ได้ร่วมกับคณะก่อการปฏิวัติทำการกบฏ  เหตุผลที่สำคัญของความสำเร็จอย่างรวดเร็วของคณะก่อการปฏิวัตินี้  ขึ้นอยู่กับความเอาใจออกห่างจากราชวงศ์แมนจูของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในส่วนภูมิภาคเป็นสำคัญ
                                                สำนักราชวงศ์แมนจูมีความตะลึงต่อสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกของการกบฏ  ครั้นมีผู้บัญชาการทหารหลายคนของกองทัพที่จัดตั้งขึ้นตามแผนใหม่ส่งโทรเลขมาจากเมืองหลวนโจว  ซึ่งเป็นเมืองห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร  เรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว สำนักราชวงศ์ต้องรีบปฏิบัติตามทันที  เนื่องจากในขณะนี้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายแมนจูขาดความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะรักษาสถานการณ์ได้ด้วยตัวเองแล้ว  ทางออกที่พวกเขาพยายามหาก็คือจะทำอย่างไรที่จะต่ออายุของราชวงศ์ได้เท่านั้น มองเห็นแต่หยวนซื่อไข่อดีตผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการในเขตนครหลวงปักกิ่งและเป็นผู้สถาปนากองทัพแผนใหม่  ซึ่งขณะนั้นถูกปลดออกไปจากราชการแล้วนั้น  คงจะเป็นผู้รักษาสถานการณ์ไว้ได้  หยวนซึ่งหาโอกาสเช่นนั้น   มานานแล้ว  แสดงท่วงทีบ่ายเบี่ยงและทำการต่อรองตามพิธีก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  โดยได้รับการเลือกจากสภานิติบัญญัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้  ซึ่งมี ๑๙ มาตราด้วยกัน  หยวนจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีเป็นคนจีนที่มีความจงรักภักดีต่อคนทั้งหมด  ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน  นอกจากนั้นเขายังมีอิทธิพลพอที่จะควบคุมกองทัพแผนใหม่ได้อย่างเด็ดขาด  สิ่งที่ราชวงศ์แมนจูยังเป็นห่วงอยู่อย่างเดียว คือการต่ออายุของราชวงศ์สืบไป
                                นับว่าเป็นเคราะห์ร้ายของราชวงศ์แมนจูที่เอาชะตามกรรมมาฝากไว้กับหยวน  ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์เป็นรองของความทะเยอทะยานส่วนตัว  จากนั้นไปจึงเป็นการใช้อำนาจส่วนตัวของหยวนในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ กับคณะก่อการปฏิวัติ
                                ผู้ก่อการปฏิวัติได้ปรึกษาหารือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนผู้นำ        ทางทหารที่ก่อการกบฏและหน่วยอิสระอื่นที่มีความเลื่อมใสในอุดมการณ์ก่อการปฏิวัติ  ได้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมกันที่เซี่ยงไฮ้  ต่อมาในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน  ย้ายไปที่ฮั่นโข่ว  การจัดตั้งรัฐบาลโดยหยวนซื่อไข่มีผลกระทบกระเทือนถึงความสามัคคีของกลุ่มก่อการปฏิวัติเป็นอันมาก  เสียงส่วนมากของที่ประชุมหันกลับไปมองหยวนในแง่ดี  และได้ผ่านมติว่าตำแหน่งประธานาธิบดีจะยกให้แก่หยวน  ถ้าหากเขาตัดความจงรักภักดีออกจากราชวงศ์แมนจูและสนับสนุนรัฐบาลตามระบบสาธารณรัฐ  นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีความเห็นแตกแยกกัน      ในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด  แต่ในที่สุดได้ตัดสินให้หลีหยวนดำรงตำแหน่งและให้หวงซิงเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ในวันที่ ๒ ธันวาคม  ที่ประชุมได้ตกลงประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งมี ๒๑ มาตราเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  ในระหว่างนี้ซุนกำลังเดินทางอยู่ในต่างประเทศ     (วันปฏิวัตินั้นเขาอยู่ในสหรัฐฯ)  เขาได้เดินทางกลับมาถึงเซี่ยงไฮ้ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม  ในวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน  เขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว  โดยผู้แทนของ ๑๖ จังหวัดในจำนวน         ๑๗ จังหวัด  ซุนได้ปฏิญาณตนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีนในวันที่ ๑ มกราคม ๑๙๑๒           ณ เมืองนานกิง  เขาได้จัดตั้งรัฐบาลตามระบอบประธานาธิบดีของสหรัฐฯ  โดยมีหลี่หูงจังเป็นรองประธานาธิบดี  รัฐบาลชุดนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการปกครองระบบทหารซึ่งมีระยะ ๓ ปี ตามแผนการเดิมของซุนที่ได้วางไว้แล้วตั้งแต่ปี ๑๙๐๕