วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฏิรูปสมัยแมนจูเป็นคลื่นระลอกที่สาม

                                ญี่ปุ่นชนะรัสเซีย  ในสงครามรุสเซีย ญี่ปุ่น  ปี ๑๙๐๔ ๑๙๐๕ เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดกระแสคลื่นลูกใหม่ไปกระทบพระราชสำนักแมนจู  เช่นเดียวกับการปฏิรูปครั้งก่อนที่จะต้องมีกำลังภายนอกมาผลักดัน  ความคิดที่จะก่อการปฏิรูปจึงจะเกิดขึ้น  และขบวนการปฏิรูปก็มีอยู่ได้ไม่ยั่งยืน  และต้องสูญสลายไปด้วยเหตุต่าง ๆ กัน  การปฏิรูปครั้งนี้นับเป็นความพยายามของ พระราชชนนี ฉือซี ครั้งสุดท้าย  ก่อนที่พระนางจะได้หายไปจากเวทีการเมืองด้วยเหตุชราภาพ  ในปี ๑๙๐๘ ผู้นำในการปฏิรูปครั้งนี้มิได้แตกต่างไปจากคราวที่แล้วในส่วนตัวบุคคลเท่าไรนัก  แต่ในด้าวความคิด ปรากฏว่า     พวกนี้เริ่มมองเห็นความดีของสังคมและสถาบันตะวันตกมากขึ้น  กล่าวโดยเฉพาะก็คือ เขาเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางปกครองประเทศ เป็นพลังทำให้ญี่ปุ่นเอาชนะการปกครองแบบเผด็จการของรุสเซียได้
                                กล่าวโดยสรุป  การปฏิรูปโดยพระราชสำนักแมนจูในปี ๑๙๐๕ ๑๙๑๑ มีสาระที่สำคัญ คือ     การจัดร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีการดำเนินการโดยย่อดังนี้
                                (๑)  ในด้านค้นคว้า  รัฐบาลได้ส่งคนออกไปดูงานเกี่ยวกับรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ ๒ คณะ ในปี ๑๙๐๕ และ ๑๙๐๗ ชุดแรก ประกอบด้วย ขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่  แหล่งดูงานของกรรมการคณะนี้ ได้แก่  ญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  และประเทศต่าง ๆ ในยุโรป  พวกนี้มีความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมากที่สุด  ส่วนคณะที่ ๒ นั้นประกอบด้วย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่น้อยกว่าชุดแรก              และประเทศที่พวกนี้ได้ผ่านการดูงานก็จำกัดเฉพาะ ญี่ปุ่น  อังกฤษ  เยอรมัน  เช่นเดียวกันพวกนี้ให้ความเห็นว่า  ระบอบรัฐธรรมนูญตามที่ใช้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น  และรัฐธรรมนูญรัสเซียเท่านั้นที่เหมาะสมกับสังคมจีนที่สุด
                                (๒) จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น  ในปี ๑๙๐๕ เพื่อเป็นองค์การสำหรับเตรียมการร่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญ  นับว่าเป็นการเลียนแบบญี่ปุ่นในการจัดร่างรัฐธรรมนูญเมย์จิ
                                (๓) ได้ปรับปรุงหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง ในปี ๑๙๐๖ และ ๑๙๑๑ ตามแบบแผนตะวันตก  ในการปรับปรุงหน่วยราชการบริหารส่วนกลางเป็นครั้งแรกนั้น  มิได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแต่ประการใด  กระทรวงทั้ง ๖ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังนั้นได้เปลี่ยนเป็น ๑๐ กระทรวง  และบางกระทรวง  ตำแหน่งได้เปลี่ยนชื่อไป  แต่พนักงานและตัวรัฐมนตรียังคงใช้คนจำพวกเดิม  พวกแมนจูยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในองค์การรัฐบาล  ส่วนการปรับปรุงครั้งที่ ๒ นั้นมีลักษณะก้าวไปไกลกว่าครั้งแรก  แต่เป็นการล่าช้าเกินไปที่จะยับยั้งกำลังฝ่ายปฏิวัติได้
                                (๔) ได้ประกาศใช้หลักการรัฐธรรมนูญในปี ๑๙๐๘ โดยให้สัญญาว่า จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรในปี ๑๙๑๖ ต่อมาได้ประกาศสัญญาว่าจะประกาศใช้ในปลายปี ๑๙๑๓
                                หลังจากถูกกดดันโดยขบวนก่อการปฏิวัติในปี ๑๙๑๑  พระราชสำนักได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  ซึ่งประกอบด้วย ๑๙ มาตรา  ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้  กำหนดให้จัดตั้งรัฐบาลในระบบรัฐสภา  โดยให้จัดตั้งรัฐสภาขึ้นอย่างรีบด่วน  เพื่อจะผูกใจประชาชนและตัดกำลังฝ่ายปฏิวัติ  หยวนซื่อไข่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งขึ้น  และหยวนได้ใช้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีนี่เองเป็นเครื่องต่อรองกับฝ่ายปฏิวัติ
                                (๕) การประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง  และการจัดตั้งสภาส่วนจังหวัดและสภาแห่งชาติหลายฉบับในปี ๑๙๐๘ ๑๙๑๑ สิทธิของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยสภา         ส่วนจังหวัดนั้นจำกัดอยู่แต่ในวงแคบ  คุณสมบัติที่สำคัญของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะต้องเป็นผู้ได้รับการศึกษาหรือมีหลักทรัพย์หรือเป็นข้าราชการเป็นต้น  อำนาจของสภาจังหวัดก็อยู่ในวงแคบมาก  ข้าหลวงตรวจการและผู้ว่าราชการมณฑลมีสิทธิที่จะเสนอดความเห็นไปยังรัฐบาลกลางให้มีการยุบสภาได้  เมื่อตอนที่ราชบัลลังก์ถูกโค่นล้มนั้น  ปรากฏว่าได้มีสภาตามกฎหมายว่าด้วยการนี้ตั้งขึ้นรวม ๑๗ จังหวัด
                                สภาแห่งชาติได้มีการประชุมครั้งแรกในเดือนตุลาคม ๑๙๑๐  สภานี้ประกอบด้วย สมาชิกทั้งหมด ๒๐๐ คน  ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกสภาจังหวัดและโดยสภาจังหวัด  อีกครึ่งหนึ่งได้รับเลือกตั้งจากพระมหาจักรพรรดิ  จากขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านความรู้เป็นพิเศษและผู้ที่เสียภาษีมากเป็นพิเศษ  สภาแห่งชาติมีอำนาจในการออกกฎหมายและควบคุมงบประมาณแผ่นดิน  ภายใต้การแซงค์ชั่นของจักรพรรดิ  ในปีแรกรัฐบาลมิได้ยึดถือกฎหมายทั่วไปและกฎหมายงบประมาณเป็นหลักในการปฏิบัติราชการแต่ประการใด  แต่ในวินาทีที่คณะปฏิวัติกำลังจะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จนั้น  ปรากฏว่ารัฐสภาเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้น
                                การปฏิรูปครั้งนี้  รัฐบาลแมนจูเลียนแบบรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลปรัสเซีย  โดยหวังที่จะกำอำนาจไว้ในกลุ่มพรรคพวกของตัว  แตกต่างกับหลักการประชาธิปไตยตามความเข้าใจของชาวตะวันตก   พระมหาจักรพรรดิของจีนยังคงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งรัฐเช่นเดียวกับหลักการในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นและรัฐบาลปรัสเซียในสมัยนั้น  นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้พยายามรวมอำนาจการบริหารพลเรือนและการทหารซึ่งไม่อาจแบ่งแยกกันได้อย่างเด็ดขาด  และมีฐานะอยู่ค่อนข้างอิสระจากรัฐบาลกลางนั้นมาอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรพรรดิ  การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  แม้จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน  สิทธิเลือกตั้งของประชาชนก็ได้จำกัดอยู่ในชนส่วนน้อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดในเรื่องทรัพย์สินนั้นนับวาได้ตัดสิทธิของคนเป็นจำนวนมาก  แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนมีความรู้พอสมควรก็ตาม  หลักการนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า หลักตาลอกแบบมาจากญี่ปุ่นและปรัสเซียเช่นเดียวกัน  ในการเลือกตั้งสภาจังหวัดครั้งแรก ปี ๑๙๐๙  ปรากฏว่าในมณฑล    ซันตุงมีชายผู้มีสิทธิออกเสียงเพียง ๑๑๙,๕๔๙ คน ในจำนวนพลเมืองทั้งหมด ๓๘,๐๐๐,๐๐ คน ในมณฑลหูเป่ย ๑๑๓,๒๓๓ คน ในจำนวนพลเมืองทั้งหมด ๓๔,๐๐๐,๐๐๐ คน
                                ตามที่กล่าวมาแล้วอาจจะทำให้เราคาดคะเนว่า  ถ้าหากปล่อยให้รัฐบาลแมนจูดำเนินการต่อไปโดยไม่มีการปฏิวัติ  ประเทศจีนอาจจะเจริญก้าวหน้าไปในแนวเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและปรัสเซียได้  แม้ว่าสมมติฐานข้อนี้อาจจะเป็นไปได้  แต่การรักษาฐานความเป็นเจ้าเหนือหัวของราชวงศ์แมนจูนั้นเป็นการยาก  นั่นก็คือเป็นปัญหาของจีน  โดยเฉพาะที่ยังมีการแบ่งเป็นจีนแท้และชาวแมนจู  แมนจูซึ่งเป็นคนส่วนน้อยยังพยายามจะหวงอำนาจไว้ให้แก่พวกของตัวราชการบริหารภายหลังการปฏิรูปเปลี่ยนระบบความมีฐานะเท่าเทียมกัน  ระหว่างคนจีนและคนแมนจู  มาให้ความลำเอียงแก่คนแมนจู  ในตำแหน่งรัฐมนตรี ๑๓ ตำแหน่ง ให้คนจีนได้รับเพียง ๕ ตำแหน่ง การปฏิรูปทางการบริหารจึงอาจถือได้ว่าเป็นชัยชนะของชาวแมนจู  แต่เป็นการพ่ายแพ้ของ    คนจีน  จึงเป็นการยกที่จะให้ชาวจีนซึ่งมีจำนวนท่วมท้นนั้นสนับสนุนรัฐบาลปฏิรูปต่อไป  ความจริงการปฏิรูปโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาอำนาจต่อไปเช่นนี้  ในระหว่างที่ชาวจีนกำลังก่อหวอดปฏิวัติอยู่ทั่วไปนั้น  เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไม่พยายามเกลี้ยกล่อมเพื่อดึงดูดความจงรักภักดีจากประชาชน  การปฏิบัติของรัฐบาล      ในการปฏิรูปจึงส่งเสริมกำลังให้ฝ่ายปฏิวัติเข้มแข็งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น