วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ขุนศึกประจำถิ่นเรืองอำนาจ (๑๙๑๖ – ๑๙๒๘)

                                ระยะเวลาตั้งแต่การตายของหยวนในปี ๑๙๑๖  จนกระทั่งการรวมประเทศจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ภายใต้การนำของจอมพลเจียงไคเช็คในปี ๑๙๒๘ เป็นตอนที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์ว่ายุคขุนศึก (Warlords) อำนาจในการปกครองสังคมจีนในยุคนี้เปลี่ยนมือกันระหว่างกลุ่มขุนศึกต่าง ๆ ในพระนครและในส่วนภูมิภาค  พวกนี้บางขณะก็ใช้อำนาจกำลังทหารต่อสู้กัน  โดยเปิดเผย  และบางขณะก็ใช้ยึดอำนาจของกันและกันโดยมีกำลังทหารหนุนอยู่เบื้องหลัง  และต่างก็มุ่งขยายอาณาบริเวณทั้งในด้านพื้นที่และอิทธิพล  กลุ่มที่มีกำลังมากก็แย่งชิงกันควบคุมนครหลวงปักกิ่ง  ใครยึดได้ปักกิ่งย่อมอยู่ในฐานเป็นผู้รับช่วงในการควบคุมหน่วยราชการบริหารสืบต่อจากรัฐบาลในอดีต  และนั่นก็เป็นทุนพื้นฐานเพื่อเรียกร้องความจงรักภักดีจากประชาชนทั่วประเทศ  เมื่อได้รับการรับรองจากต่างประเทศแล้ว  รัฐบาลปักกิ่งยังอยู่ในฐานะกู้เงินและทำสัญญากับต่างประเทศ  เพื่อเพิ่มพูนกำลังของตนได้อีกด้วย
                                การตายของหยวนได้นำสถานการณ์ทางการเมืองของจีนหวนกลับไปสู่ระยะการเริ่มต้นของระบบสาธารณรัฐในปี ๑๙๑๓  หลี่หยวนหูงได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อจากหยวนเขารื้อฟื้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๑๙๑๒ กลับมาใช้  แล้วเรียกประชุมรัฐสภาซึ่งถูกยุบไปในเดือนธันวาคม ๑๙๑๓ นั้นอีกในวันที่         ๑ สิงหาคม ๑๙๑๑๖  อย่างไรก็ตาม  เป็นการเหลือความสามารถของหลี่ที่จะรวบรวมความสามัคคีของกลุ่มต่าง ๆ ที่นิยมระบบสาธารณรัฐ  ที่นิยมระบบกษัตริย์และที่เป็นพวกขุนศึกกลับคืนมาได้  ในทางการเมือง ประเทศจีนยังคงอ่อนแอและแตกแยกระส่ำระสาย  อำนาจที่แท้จริงอยู่ในกำมือของขุนศึกในส่วนภูมิภาค  พวกนี้จะรับคำสั่งของรัฐบาลกลางก็แต่คำสั่งที่ตนเห็นชอบด้วยเท่านั้น
                                การขัดแย้งกันระหว่างรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีตวนฉียุ่ยยังความอ่อนแอให้แก่รัฐบาลปักกิ่งยิ่งขึ้น  ตวนได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุที่มีอิทธิพลในกลุ่มทหารเป่ยหยาง (ทหารที่ได้รับการฝึกตามแผนตะวันตก)  เขาต้องการใช้หลี่เป็นเครื่องมือให้เขากุมอำนาจทั้งหมดอยู่ในกำมือแต่ผู้เดียว  เขานิยมเดินตามแนวทางของหยวน  แสวงหาสิ่งค้ำจุนอำนาจของตน  โดยการเข้าทำสัญญากู้ยืมเงินจากญี่ปุ่น  โดยปราศจากการยินยอมเห็นชอบจากรัฐสภาล่วงหน้า  ครั้นทำสัญญาเสร็จแล้ว  จึงมาขอความยินยอมเห็นชอบ  รัฐสภาจึงไม่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของเขา  ปรากฏว่ามีการขู่จะฟ้องร้องตวนโดยรัฐสภาอยู่เสมอ  ตวนตอบโต้       ด้วยการเลื่อนประชุมไปในที่สุด  ในเดือนธันวาคม ๑๙๑๖ ฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนจากส่วนภูมิภาคเสนอตัว    เข้าเป็นผู้ไกล่เกลี่ย  โดยบีบคั้นรัฐบาลปักกิ่งทางโทรเลข  ในโทรเลขนั้นแนะนำให้หลี่จงให้ความไว้วางใจในการบริหารราชการของตวน  ในขณะเดียวกันก็เตือนรัฐสภาว่าให้รัฐสภาผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญที่พิจารณาก่อนสภาถูกปิดปี ๑๙๑๓ นั้นโดยเร็ว  และอย่าขัดขวางการบริหารซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
                                สงครามโลกครั้งที่ ๑ มีส่วนช่วยให้รัฐสภาถูกยุบไปอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการเปิดทางให้ขุนศึกก้าวขึ้นไปบงการรัฐบาลอย่างเปิดเผย แม้ว่าประธานาธิบดีและรัฐสภาจะสนับสนุนการรักษาความเป็นกลาง       แต่นายกรัฐมนตรีตวนกระหายที่จะเข้าร่วมสงครามเป็นภาคีกับฝ่ายสัมพันธมิตร  และเมื่อสหรัฐฯ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมันในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๑๙๑๗ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง ปลอ เรนช์ (Paul  Reinsch) ชักชวนให้ตวนเดินตามสหรัฐฯ สำหรับญี่ปุ่นนั้นงดเว้นการคัดค้านจีนเข้าร่วมสงครามแล้ว  เพราะว่า อังกฤษ  ฝรั่งเศส  และรุสเซียได้ยินยอมตกลงกับญี่ปุ่นเป็นการลับ  ให้ญี่ปุ่นเป็นผู้เข้ารับช่วงสิทธิในทางเศรษฐกิจของเยอรมันในมณฑลซันตุง  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการให้  ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์  ตวนได้ยื่นสาส์นประท้วงรัฐบาลเยอรมันเกี่ยวกับการปฏิบัติสงครามเรือใต้น้ำโดยไม่มีขอบเขตจำกัด  และในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ตวนสามารถหาเหตุผลต่อต้านเยอรมันได้ดียิ่งขึ้น  ในเมื่อเรือใต้น้ำเยอมันยิงเรือฝรั่งเศส “Athos” ในน่านน้ำทะเล     เมดิเตอร์เรเนียน  อันเป็นเหตุให้ผู้โดยสารชาวจีนตาย ๕๔๓ คน ในวันที่ ๑๑ ตวนตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมัน  โดยได้รับความยินยอมเห็นชอบจากรัฐสภา (ส่วนเรื่องประกาศสงครามนั้นไม่ได้กระทำจนกระทั่งวันที่ ๑๔ สิงหาคม) วันที่ ๘ พฤษภาคม ตวนขออำนาจรัฐสภาให้อนุมัติร่างกฎหมายยามสงคราม (War  Bill) แม้ว่าเขาจะใช้วิธีการขู่ให้สินบนและยุยงให้เดินขบวน  แต่รัฐสภาเรียกร้อว่าจะยอมก็ต่อเมื่อหลี่ปลดตวนออกจากนายกรัฐมนตรี  ตวนปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่งแต่กลับเรียกความสนับสนุนจากฝ่ายทหารโดยการ           เรียกประชุมขุนศึกประจำถิ่นต่าง ๆ ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ ๒๕ เมษายน  เมื่อฝ่ายขุนศึกประจำถิ่นเรียกร้องให้หลี่ยุบรัฐสภา  และแนะนำว่ามีวิธีเดียวคือให้ตวนลาออกจากนายก ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม  หลี่ปลดตวนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นทางการ  แร่ยังผลให้รัฐสภาถูกทำลาย  ตวนไม่ฟังคำสั่งปลดของหลี่  นายทหาร                  ที่สนับสนุนตวนประกาศตั้งตัวเป็นเอกราชจากสาธารณรัฐ และตั้งรัฐบาลทหารชั่วคราวขึ้นที่กรุงเทียนสิน  อย่างไรก็ตามพวกนี้ประกาศว่า เขายอมร่วมมือกับรัฐบาลสาธารณรัฐถ้าหากว่ารัฐสภาจะถูกยุบ หลี่ได้เชื้อเชิญขุนศึกจังซุนผู้ซึ่งคิดว่าเป็นที่จะพอไว้ใจได้  ไปยังกรุงปักกิ่ง  เพื่อไกล่เกลี่ยระหว่างตวนกับรัฐสภา แต่จังซุนแนะให้   หลี่ยุบรัฐสภา หลี่ยอมทำตารมความกดดันเช่นนั้น ต่อมาไม่นานจังซุนนำทหารจำนวนมากจากซูโจวผ่าน      เทียนสินเข้ายึดปักกิ่งในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๑๙๑๗  กล่าวกันว่า การกระทำเช่นนั้นได้รับความยินยอมเห็นชอบจากตวน  จังซุนประกาศฟื้นฟูราชวงศ์แมนจูโดยยกอดีตจักรพรรดิซวนถุ่งขึ้นครองราชย์สมบัติ  คังอิ่วหวุย        เห็นเป็นโอกาสของตนที่จะแสดงบ้างจึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ดูจะสายเกินไป ตวนผู้ซึ่งเมื่อหนึ่งเดือน     ที่แล้วมายังมีท่าทีเป็นมิตรที่ดีของจังนั้น  กลับถือธงของสาธารณรัฐรวบรวมทหารที่จงรักภักดีได้เป็นจำนวนมากล้อมกรุงปักกิ่ง  และสามารถอัญเชิญจักรพรรดิออกไปจากราชบัลลังก์ได้ในระยะเวลาอันสั้น (๑๒ กรกฎาคม)     จังได้หนีไปพักพิงอยู่ในสถานทูตฮอลันดา  ส่วนคังหนีไปอยู่ในสถานทูตญี่ปุ่นปัญหาแก้ไขกันด้วยการลาออกของประธานาธิบดีหลี่หยวนหูง  และแต่งตั้งเฝิงกว๋อจังเข้าดำรงตำแหน่งแทน
                                สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังผลให้ก๊กอันฝูซึ่งนำโดยตวนต้องสูญเสียอำนาจจากเวทีการเมือง  นายกรัฐมนตรีตวนและประธานาธิบดีเฝิงนั้นถือว่าเป็นคู่แข่งในตำแหน่ง รัชทายาท ของหยวน  เฝิงเป็นผู้นำ    ในกลุ่มทหารเขตจังหวัดพระนคร  บริเวณเหอเป่ย  เกียงซู  เกียงซี  หูเป่ย  และหูหนัน  ตวนเป็นผู้นำทหารในเขตจังหวัดอันฮุยและฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ในทางเหนือได้เกิดคู่แข่งขึ้นอีกกลุ่มหนึ่งนำโดยจังจว้อหลิน  จังสร้างตัว     จากการเป็นขุนโจรในดินแดนเกาเหลียงแห่งแมนจูเรียและมีฐานะดีขึ้น  เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่น     ในครั้งสงครามรุสเซีย ญี่ปุ่น (๑๙๐๔ ๑๙๐๕) ในปี ๑๙๑๑ เขาได้เป็นผู้บังคับการทหารแห่งมณฑลทหาร        เฝิงเถียนภายหลังการตายของหยวน  มีอิทธิพลเหนือกลุ่มอื่นตลอดระยะเวลาระหว่างสงคราม  แต่สนธิสัญญา    แวร์ซายส์ทำให้การเมืองผันแปรครั้งใหญ่  การตื่นตัวของเยาวชนเร้าโดยนักเรียนและนักศึกษาเริ่มด้วยการเดินขบวนครั้งมโหฬารในกรุงปักกิ่งในวันที่ ๔ พฤษภาคม ทำให้เฝิงและจังเห็นอนาคตของตนแจ่มใสยิ่งขึ้น (เรื่องขบวนการ ๔ พฤษภาคม) ในกลางปี ๑๙๒๐ อู๋เฟ่ยฟูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเจ้าคุณ และเป็นพวกเดียวกับเฝิงได้เคลื่อนพลเข้าขับไล่ตวนกับทหารผู้สวามิภักดิ์ต่อเขาออกจาเขตพระนคร  จังจว้อหลินฉวยโอกาสที่คู่แข่งทั้ง ๒ กำลังบอบช้ำจากการรบ  เคลื่อนทหารเข้าควบคุมพระนครเสียเอง  กล่าวกันว่า สหรัฐอเมริกาและอังกฤษมีส่วนหนุนหลังเฝิงเนื่องด้วยความไม่พอใจที่ตวนมีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับญี่ปุ่น  แต่ญี่ปุ่นยังคงมีฐานะได้เปรียบต่อไปได้ด้วยการสนับสนุนจัง  เนื่องด้วยจังถ้าหากไม่เป็นหุ่นก็เป็นผู้นิยมญี่ปุ่นมากกว่านิยมอเมริกาและอังกฤษ  อู๋เฟ่ยฟู   หนีไปตั้งหลักแหล่งได้ที่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซี ในปี ๑๙๒๒ อู๋เฟ่ยฟูก็ประสบความสำเร็จในการแก้แค้นจังจว้อหลิน  โดยขับไล่จังกลับไปตั้งถิ่นในแมนจูเรียด้วยความช่วยเหลือของเฝิงยู่เสียงแห่งมณฑสั่นซี  หลี่หยวนหูงได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง (มิถุนายน ๑๙๒๒ มิถุนายน ๑๙๒๓) แทนสวีซื่อซัง  ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยรัฐสภาอันฝู (Anfu  Parliament) เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๑๙๑๘  หลี่เรียกประชุมสมาชิกรัฐสภาชุดที่ถูกยุบไปด้วยการถูกบังคับของจังซุนเมื่อปี ๑๙๑๗  แต่การเมืองในระหว่างนี้พูดกันด้วยปากกระบอกปืนและอำนาจเงินตรา  เจ้าคุนเข้าสวมตำแหน่งประธานาธิบดีแทนหลี่ เมื่อเดือนมิถุนายน ๑๙๒๓ โดยวิธีการทำนองเดียวกับหยวนซื่อไข่  ในปี ๑๙๒๔ เฝิงอู่เสียงหักหลังอู๋เพ่ยฟูด้วยการยึดปักกิ่งเอาเป็นของตัวเอง  นอกจากนั้น     เขายังขับไล่อดีตพระมหาจักรพรรดิออกจากพระมหาราชวังและสมาชิกรัฐสภาออกจากปักกิ่งด้วย  เฝิงตกลงกับจังจว้อหลินยกเอาตวนเข้าไปเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารชั่วคราว  แต่อยู่ได้ไม่นาน  เฝิงกับจังสบตามกันไม่สนิท      เฝิงถอนตัวไปฝึกทหารประชาชน (กว๋อหมินจุน) อยู่ชายแดนโซเวียต ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน          ด้วยความช่วยเหลือของรุสเซีย  ในขณะเดียวกัน จังก็ได้รับการอิ่มเอิบจากการสนับสนุนของญี่ปุ่น  ให้เป็นขุนศึกปกครองอยู่ถิ่นแมนจูเรีย ในปี ๑๙๒๕ ๑๙๒๖ ได้เกิดศึกใหญ่ระหว่างกำลังผสมของจังจว้อหลินกับอู๋เพ่ยฟู      ฝ่ายหนึ่ง  กับเฝิงยู่เสียงอีกฝ่ายหนึ่ง  แต่ละฝ่ายก็มีมหาอำนาจจักรวรรดินิยมหนุนหลังอยู่ คือ นักธุรกิจอังกฤษ          ให้การสนับสนุนอู๋เพ่ยฟู  ญี่ปุ่นให้ความสนับสนุนจังจว้อหลินและรุสเซียให้การสนับสนุนเฝิงยู่เสียง  ผลของการสงครามปรากฏว่าเฝิงต้องลี้ภัยไปอยู่มอสโก  ตวนหนีเข้าเขตต่างด้าวในเทียนสิน  เจ้าคุนผู้ซึ่งกำลังถูกจำคุกอยู่ในข้อหาคอร์รัปชั่น ได้รับการปลดปล่อยและถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีจังและอู๋ตั้ง รัฐบาลสำเร็จราชการ (Regency  Cabinet) เพื่อขอเวลาสะสมกำลังทหารให้พอเพียงกับการขับไล่อีกฝ่ายหนึ่งออกไป           จากปักกิ่ง  ในที่สุดจังสามารถจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการได้ในกรุงปักกิ่ง  และอยู่จนกระทั่งถูกขับไล่ออกไปโดย     เจียงไคเช็คผู้นำฝ่ายใต้ในปี ๑๙๒๘









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น