วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การต่อสู้ระหว่างหยวนซื่อไข่กับพวกนิยมสาธารณรัฐ

                                พวกนิยมระบอบสาธารณรัฐมุ่งหมายจะให้หยวนซื่อไข่ใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา  โดยดำเนินการปกครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่วางไว้  แต่หยวนเห็นว่า สถาบันและกฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องกีดขวางความเป็นอิสระของตน จึงไม่ใช้เป็นแนวทางบริหารประเทศ  หยวนอาศัยความสนับสนุนจากข้าราชการของรัฐบาลในอดีต  พวกนิยมการปฏิรูปสมัยการปฏิรูป ปี ๑๘๙๘ และพรรคพวกของเขาทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน  หยวนสามารถใช้อำนาจได้อย่างอิสระอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
                                คณะรัฐมนตรีชุดแรกของรัฐบาลในระบอบสาธารณรัฐนั้น  ไม่ได้เป็นเครื่องมือของประธานาธิบดีสมดังหยวนมุ่งหมาย  หยวนเลือกถัง เซ่าอี้ เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเห็นว่าเป็นคนสนิทของตน  ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐยอมรับก็เพราะเห็นว่า ถัง เซ่าอี้  มีท่าทีแสดงความเห็นใจการปฏิวัติ  ซึ่งเห็นได้จากตอนที่เขาเป็นผู้แทนของรัฐบาลปักกิ่งในการเจรจารวมประเทศจีนก่อนหน้านั้น  ถังผู้เคยผ่านการศึกษาในสหรัฐอเมริกา    ไม่ยอมเป็นลูกมือของหยวนดังคณะทหารเป่ยหยาง  รัฐบาลถังต้องประสบปัญหาหลายประการ  ในที่สุดเขาต้องลาออกในเดือนมิถุนายน ๑๙๑๒  เพราะปัญหาการขัดแย้งกันในเรื่องเงินกู้จากต่างประเทศ  และการขัดแย้งกัน          ในการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารในเขตจังหวัดพระนคร  หยวนแต่งตั้งหลูเจิงเสียงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน  เมื่อรัฐสภาไม่ยอมให้ความไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง ๖ นาย ที่ตั้งขึ้นมาแทนรัฐมนตรีที่ลาออกไปตามถัง      หยวนแก้ปัญหาโดยการส่งรายนามรัฐมนตรี ๖ คน ให้สภาชั่วคราว  แล้วใช้กลเม็ดลายครามตามด้วยจดหมายของพรรคพวกขู่จะเอาชีวิตของสมาชิกรัฐสภา  และกุข่าวว่าจะใช้กำลังทหารเข้าบังคับ  รัฐสภาชั่วคราวต้องยอม     หลีกทางให้อำนาจ  แต่หลูอยู่ในตำแหน่งไม่นานก็ต้องมอบอำนาจในการบริหารงานให้แก เจ้าผิงจุน ปฏิบัติราชการแทนด้วยเหตุผลป่วย  ในสุดเดือนกันยายน เจ้าผิงจุนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน (เจ้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ผู้ซึ่งมีประวัติว่าไม่เคยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเลยในสมัยรัฐบาลถัง  โดยให้เหตุผลว่าเรื่องที่พิจารณาไม่เกี่ยวกับกระทรวงของตนนั้นทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเลขาธิการ                       ของประธานาธิบดี)  ฐานะของหยวนมีความมั่นคง  เพราะว่าเขาสามารถบังคับฝ่ายทหารโดยผ่านคณะเสนาธิการทหาร กระทรวงทหารบกและกระทรวงทหารเรือซึ่งอยู่ในกำมือของนักการทหารตลอดมานั้นได้  นอกจากนั้นเขายังได้จัดตั้งสำนักบัญชาการทหารสูงสุดภายในสำนักงานของเขาอีกด้วย
                                หยวนมีข้อผูกพันตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภานิติบัญญัติในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๑๙๑๒  รัฐบาลได้ออกกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ  กฎหมายนี้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก ๒ ประเภท คือ สมาชิกวุฒิสภา (ซันอี้หยวน)  มีจำนวน ๒๗๔ คน  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (จุ้งอี้หยวน)  มีจำนวน ๕๙๖ คน  ให้สมาชิกวุฒิสภาได้รับการคัดเลือกทางอ้อมโดยสภาจังหวัด  และให้อยู่ในตำแหน่งครั้งละ ๖ ปี  โดยที่ ๑/๓ ของสมาชิกผลัดกันออกทุก ๆ ๒ ปี ให้สมาชิกสภาผู้แทนได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎรตามหลักอัตราส่วน (Proportional  Representation) และให้สมาชิกอยู่ในตำแหน่งครั้งละ ๓ ปี
                                เพื่อเป็นการต้อนรับรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย  ซุนและพรรคพวกของเขา วางจิงวุ่ย  หูฮั่นหมิน  หวงซิง  และสุ้ง เจี้ยวเหยิน  ได้เปลี่ยนชื่อของสมาคมถุงเหมิงซึ่งเป็นสมาคมลับนั้นรวมกับพรรคการเมืองย่อย ๆ อีกหลายพรรค  แล้วขนานนามขึ้นเป็นพรรคการเมืองเรียกว่าก๊กมินตั๋ง (พรรคประชาชน) ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๑๙๑๒  ซุนและหวงซิงไม่มีลักษณะเหมือนกับโอกุมาและอีตางากิของญี่ปุ่น  ผู้นำในการต่อสู้     เพื่อหลักการประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา  ซุนและหวงไม่ให้ความสนใจระบบรัฐสภา  แต่อุทิศชีวิตของตนไปในการเร่งรัดพัฒนาการศึกษาและการอุตสาหกรรม  โดยหวังจะถือเป็นรากฐานความมั่นคงของชาติสืบไป  ซุนเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการถไฟในกลางปี ๑๙๑๒  พร้อมด้วยมีอำนาจเต็มในหารกจัดระเบียบและแก้ไขระบบการรถไฟทั่วประเทศ  รวมทั้งอำนาจในการกู้เงินจากต่างประเทศ  เขาประกาศนโยบายออกมาว่าจะสร้าง         ทางรถไฟให้ยาวถึง ๒๐๐,๐๐๐ ไมล์ คนส่วนมากจึงพากันขนานนามให้ว่า ซุนขี้โม้ (ซุนต้าเผ้า)  อย่างไรก็ตาม       เขามีความสุจริตในการที่จะปรับปรุงประเทศจีนให้ทันสมัยและคิดว่าการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศหวงซิงปลดทหารภายใต้การบังคับบัญชาของเขาภายหลังที่รัฐบาลได้รวมไปอยู่ภายใต้การนำของหยวนแล้ว  ทั้งนี้เพราะเขามองเห็นว่ารัฐบาลแห่งชาติ  ธนาคารแห่งชาติจะไม่จ่ายเงินและให้กู้เงินสำหรับบำรุงกองทหารต่อไป  จึงปลดทหารโดยปราศจากการจ่ายเงินเดือนเพื่อแสดงความรักชาติและความจงรักภักดีต่อรัฐบาลสาธารณรัฐ  ต่อมาเขาได้รับตำแหน่งผู้ควบคุมการเหมืองแร่และ              การก่อสร้างทางรถไฟสายกวางตุ้ง ฮั่นโข่ว  เหลือแต่สุ้ง  เจี้ยวเหยิน  ซึ่งยังมีความทะเยอทะยานที่จะแสวงหาอำนาจทางรัฐสภาเพื่อจำกัดอำนาจหยวนซื่อไข่
                                ชัยชนะในการเลือกตั้งของก๊กมินตั๋ง  พร่าชีวิตของสุ้งเจี้ยวเหยินในการเลือกตั้ง  เดือนธันวาคม ๑๙๑๒  ปรากฏว่าก๊กมินตั๋งได้รับเลือกตั้ง ๑๒๓ ที่นั่งในจำนวน ๒๗๔ ที่นั่งของวุฒิสภา และ ๒๖๙ ในจำนวน ๒๙๖ ของสมาชิกสภาผู้แทน  สุ้ง เจี้ยวเหยิน ผู้ซึ่งประกาศหาเสียงในที่ต่าง ๆ ว่า  ต้องการจะให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาควบคุมรัฐบาล ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๑๙๑๓  เขาถูกฆาตกรรมที่สถานีรถไฟเมืองเซี่ยงไฮ้  ผลจากการสอบสวนปรากฏว่า ฆาตกรถูกว่าจ้างโดยนายกรัฐมนตรี เจ้าผิงจุน และมีส่วนพัวพันถึงประธานาธิบดีหยวนซื่อไข่ด้วย
                                การตายของสุ้ง  เจี้ยวเหยิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการป่าไม้  เพิ่มความดุเดือดของลูกพรรคก๊กมินตั๋งยิ่งขึ้น  รัฐสภาทำการคัดค้านหยวนในปัญหาการกู้เงินต่างประเทศอย่างหนักหน่วง
                                การขาดแคลนการเงินเป็นปัญหาหนักสำหรับการรักษาอำนาจของหยวน  รัฐบาลของเขาต้องแสวงหาเงินกู้จากต่างประเทศอยู่เนือง ๆ  เงินคงคลังไม่มีเหลือ  เงินภาษีที่เก็บได้ก็ลดน้อยลงตามลำดับ  รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐในการเก็บภาษีส่วนมากมาจากภาษีศุลกากรที่จัดเก็บโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรต่างประเทศ  นอกนั้นถูกจัดสรรไปบำรุงส่วนท้องถิ่น  หยวนเห็นไม่มีทางที่จะปฏิบัติตามภาระผูกพันที่มีต่อต่างประเทศ       และค่าใช้จ่ายในราชการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการทหาร  ซึ่งเขาต้องการเพิ่มเพื่อต้อนรับกับการปฏิวัติที่อาจจะเกิดขึ้นในระลอกใหม่  ภายหลังการเปิดเผยการฆาตกรรมสุ้ง เจี้ยวเหยินแล้ว
                                หลังจากที่ได้เงินกู้จากภาคีธนาคาร ในเดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๑๒ และได้รับเงินกู้ล่วงหน้าเป็น                   ส่วนหนึ่งแล้ว  หยวนปรารถนาที่จะกู้เงินจำนวนเพิ่มเติมโดยจะไม่อาศัยอำนาจรัฐสภา และในวันที่ ๒๖ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการเปิดเผยกรณีฆาตกรรมสุ้ง  หยวนสามารถเซ็นสัญญากู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนเงินถึง ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์
                                เจ้าหนี้เงินกู้ต่างพอใจในการให้เงินหยวน  ในเมื่อตนได้เข้ามีส่วนร่วมในการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของจีน  ญี่ปุ่น และรุสเซีย  ผู้ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมในภาคีธนาคารแล้วนั้นมีข้อเรียกร้องพิเศษ  ญี่ปุ่นตั้งเงื่อนไขในการให้กู้เงินว่า  จีนจะต้องไม่ทำประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียสิทธิพิเศษของญี่ปุ่นในแมนจูเรียและทิศตะวันออกของมองโกเลียใน  ส่วนรุสเซียตั้งข้อเรียกร้องว่า สิทธิของตนในแมนจูเรีย  มองโกเลีย  และจีนตะวันตกจะได้รับการคุ้มครอง  นอกจากนั้นให้รัฐบาลจีนเชิญชาวอังกฤษหนึ่งคนเป็นผู้ควบคุมภาษีเกลือและมีชาวเยอรมันคนหนึ่งเป็นผู้ช่วย  ในสำนักงานเงินกู้ต่างประเทศให้จ้างชาวรุสเซียหนึ่งคนเป็นผู้อำนวยการ  และให้มีชาวฝรั่งเศสและรุสเซียสัญชาติละหนึ่งคนเป็นที่ปรึกษา  ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นว่าเงื่อนไขในการให้เงินกู้    เป็นการทำลายความเป็นเอกภาพในราชการบริหารของจีน  ประธานาธิบดี วูดโร  วิลสัน (Woodrow  Wilson)      จึงมีคำสั่งให้ธนาคารของสหรัฐถอนตัวออกจาภาคีธนาคาร  ถ้าหากไม่เกิดกรณีฆาตกรรมสุ้ง  หยวนก็คงไม่รับเงิน     ไปอย่างเสียเปรียบเช่นนั้น
                                หยวนต้องเผชิญกับรัฐสภาที่เลือกตั้งใหม่ในปัญหาเงินกู้  เมื่อสภาทั้ง ๒ ได้เปิดประชุมในวันที่ ๘ เมษายน ๑๙๑๓  ก็ตั้งข้อแย้งว่าเงินกู้นั้นมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพราะมิได้รับอนุมัติจากรัฐสภา  หยวนค้านว่า เงินกู้จากต่างประเทศนั้นได้รับอนุมัติจากรัฐสภาชั่วคราวแล้ว  ซึ่งก็เป็นความจริง  แต่หยวนได้มติมาด้วยวิธีการขู่และให้สินบนแก่สมาชิกสภาชั่วคราว  ภายหลังที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ตามพิธีการแล้ว  เสียงต่อต้านในรัฐสภาเป็นไปอย่างเผ็ดร้อนและการประชุมปราศจากความเป็นระเบียบ  วุฒิสภาได้มีมติ           ด้วยคะแนนเสียง ๑๐๗ ต่อ ๖๔ ว่า การเซ็นสัญญาเงินกู้ของรัฐบาลโดยปราศจากการส่งข้อเสนอการกู้เงินไปให้รัฐสภาพิจารณาให้ความอนุมัตินั้น มิชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  ฉะนั้นให้ถือว่าสัญญากู้เงินนั้น        เป็นโมฆะ  มติเช่นเดียวกันได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียง ๒๒๓ ต่อ ๑๔๓  ซุนยัดเซ็นพยายามจะยับยั้งสัญญากู้เงินนี้โดยการส่งโทรเลขไปกรุงลอนดอน  เพื่อขอให้ใช้อิทธิพลชักจูงธนาคารของห้ามหาอำนาจยกเลิกสัญญากู้เงินครั้งนี้  แต่ไม่ได้ผล  ตรงกันข้ามในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ภาคีธนาคารให้เงินกู้แก่หยวนมากกว่าสัญญาเดิมเสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น